บทความวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง

Recent Announcements

แสดงบทความ 1 - 8 จาก 8 รายการ ดูเพิ่มเติม »

เที่ยวเวียดนามดูวัฒนธรรม โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:56โดยไม่ทราบผู้ใช้

เที่ยวเวียดนามดูวัฒนธรรม

โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย


         การเดินทางไปเห็นด้วยตาตัวเองจะทำให้เราได้จดจำสิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างดีสามารถนำมาถ่ายทอดให้ผู้ที่ไม่ได้ไปพบเห็นฟังได้อย่างตื่นตาตื่นใจ เพราะมันเต็มไปด้วยประสบการณ์อันน่าสนใจ โดยเฉพาะการไปเที่ยวดูวัฒนธรรมเวียดนามในครั้งนี้ผู้เขียนก็ได้เก็บภาพบรรยากาศต่าง ๆระหว่างการเดินทางมาให้ชมกันครับ

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะภาพที่ถ่ายมาเยอะมากจนไม่สามารถที่จะเอาลงได้หมดครับ โปรดติดตามตอนต่อไป


ตลาดสด : หลวงพระบาง โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:55โดยไม่ทราบผู้ใช้

ตลาดสด : หลวงพระบาง

โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

 

         ผู้เขียนได้มีโอกาสไปศึกษาวัฒนธรรมที่เมืองหลวงพระบาง และสะดุดตาตลาดสด ที่คล้ายกับบ้านเราโดยเฉพาะภาคอีสาน ทำให้คิดว่าเหมือนว่าเรามาจ่ายตลาดสดตอนเย็นที่บ้านเราอย่างไรไม่รู้ ผู้เขียนจึงเก็บภาพประทับใจมาให้ผู้อ่านได้เห็นภาพไปตามๆกัน ครับ

         มีอาหารที่ใส่ถุงเรียบร้อยแล้ว และพริกแกง

ผลไม้ก็มีกล้วยหอม กล้วยน้ำหว้า สัปรด 

มีเปลือกไม้สมุนไพร ทั้งของบูชาพระ 

มีลาบเทา หรือลาบสาหร่ายอีสาน บอกเลยว่า แซบอีหลีเด้อ

ความงามของตลาดสดอยู่ที่ความเหมือนเดิมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปก็ถือว่าสุดยอดแล้วครับ


วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:54โดยไม่ทราบผู้ใช้

วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

เรียบเรียงโดย บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย

         วรรณกรรม เป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ เพื่อเรียกหนังสือทุกประเภทที่เป็นที่เข้าใจกันโดยปริยายว่ายังไม่ได้รับการรับรองหรือยกย่องว่าดีเด่นถึงขึ้นเป็นวรรณคดี คำว่า วรรณกรรม จึงมีความหมายตรงกับคำว่า วรรณคดีในความหมายอย่างกว้างนั่นเอง คำนี้ปรากฏใช้เป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 (รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์, 2526) 

         วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เช่น บทความ   สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น เรียงความ บทภาพยนตร์ (พจนานุกรรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน,  2525)

          วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทุกประเภท ทุกชนิดที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น นับตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน (ดนุพล ไชยสินธุ์,  2553)

         คนอีสานนิยมแต่งเรื่องราววรรณคดีของตัวเองไว้มากมาย และโยงเรื่องราวเหล่านั้นเข้าสู่พระพุทธศาสนา หรือบางทีก็หยิบมาจากปัญญาสชาดก หรือพระเจ้า 50 ชาติ เอามาแต่งเป็นนิทาน และท้ายสุดของวรรณคดีนั้น ๆ จะมีการสรุปหรือม้วนชาดให้เห็นว่า ใครในอดีตชาติได้กลับมาเกิดเป็นใครในปัจจุบัน เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจารึกไว้ในใบลานแล้ว ยังนำไปเขียนเป็นจิตรกรรมตามผนังโบสถ์ในอีสาน วรรณคดีเรื่องสำคัญ ๆ ที่นักปราชญ์อีสานศึกษาค้นคว้าไว้นั้นได้แก่ (อุดม บัวศรี,  2546)

 

 

ปัญหาของวรรณกรรม (การสูญเสีย การทำลาย การไม่เห็นคุณค่า)

 

          1      การสูญเสีย

           1.1    ขาดการทำความเข้าใจในเรื่องของวรรณกรรม  ผู้ที่สนใจศึกษาไม่ทำความเข้าใจในการนำวรรณกรรมต้นฉบับไปใช้งาน โดยการเปลี่ยนแปลงสำนวนเนื้อหาของต้นฉบับเดิมด้วยอารมณ์และความรู้สึกของตนเองทำให้สำนวนเนื้อหาของวรรณกรรมนั้นสูญหายไปเรื่อย ๆ

          1.2    ขาดการเก็บรวบรวมไว้ในที่ปลอดภัย เช่น วรรณกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ตามวัดวาอาราม ผู้ที่อยู่ในวัดอาจจะละเลยไม่ได้สนใจเวลามีการเปลี่ยนแปลงก่อสร้างวัดใหม่ก็อาจมีการทิ้งวรรณกรรมเหล่านี้ไป ด้วยเงื่อนไขที่ว่า “ไม่มีประโยชน์ และรกเกะกะ

          1.3    ขาดผู้สืบทอด และต่อยอดที่ให้ความสนใจอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันนี้หน่วยงานของภาครัฐได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 “หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 27 ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติ” แต่กลับเป็นว่าสถาบันการศึกษาขาดผู้ที่ถ่ายเรื่องของวรรณกรรมท้องถิ่น ผู้เรียนจึงไม่ได้เรียนเรื่องของวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างจริงจัง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้วรรณกรรมท้องถิ่นสูญหายไปก็เป็นได้

          1.4    ยกเลิกคำว่า “ลาว” พ.ศ. 2442 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) ได้มีพระบรมราชโองการในการเปลี่ยนแปลงให้ทุกหัวเมืองใน มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ การกรอกข้อมูลสำมะโนครัวในช่องสัญชาติ ว่า “ชาติไทยบังคับสยาม” ทั้งหมด ห้ามมิให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ผู้ไท ฯลฯ โดยเด็ดขาด ซึ่งนับแต่นั้นมากระบวนการเรียนการสอนของภาคอีสานก็ได้รับอิทธิพลของภาษาไทยของภาคกลางมาตั้งแต่บัดนั้น ด้วยระบบการศึกษานี้ทำให้ภาคอีสานต้องเรียนภาษากลาง ทำให้ภาษาไทยน้อย และภาษาธรรมค่อย ๆ เลือนลางจางหายไป

 

            2      การทำลาย

              2.1    การเปลี่ยนของโลกยุคโลกาภิวัตน์ เช่น ใน ยุคมืด (พ.ศ.2501-2506)

            “บทกวีของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ปัญหาในการวิพากษ์วิจารณ์มักเป็นเรื่องรูปแบบ  วงนักกลอนต่าง ๆ กล่าวหาว่าอังคารเขียนร้อยกรอง ไม่ถูกฉันทลักษณ์ ซึ่งข้อนี้กลับเป็นใบเบิกทางให้แก่นักกลอนรุ่นใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดในด้านรูปแบบนักมาจนถึงปัจจุบัน” สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจทำลายรูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นไปจดหมด การกระทำเช่นนี้เข้าข่าย เป็นการทำลายวรรณกรรมท้องถิ่นทางอ้อม ด้วยเช่นกัน

               2.2    ทำลายด้วยวิธีการ “เจตนาไม่สืบสานต่อ” เพราะเห็นว่าวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้ล้าลัง เช่น “หนังสือวรรณคดีเก่า หลายเล่มถูกประณามหยามเหยียด เช่น อิเหนา ลิลิตพระลอ ฯลฯ เพราะเนื้อหาและแนวคิดไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน” นี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมจะค่อย ๆ เลือนลางหายไป เพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจว่าวรรณกรรมในอดีตจะสะท้อนภาพของยุคสมัยของมันเองเท่านั้น มิใช่สะท้อนภาพของอนาคต

 

         3      การไม่เห็นคุณค่า

          4.3.1    ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวัฒนธรรมปล่อยปะละเลย ในด้านภาษาถิ่นอีสานของตนเองอย่างจริงจัง  

          4.3.2    รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมามากจนลืมรากเหง้า ภาษาและวรรณกรรมของตนเอง        

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาวรรณกรรม

 

       1    อนุรักษ์

             1.1  ในฐานะที่วรรณกรรมพื้นบ้านมีลักษณะสำคัญ คือ ความเป็นมุขปาฐะ และวรรณกรรมลายลักษณ์ก็คือ การบันทึกส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมุขปาฐะ ทั้งวรรณกรรมที่เขียนขึ้นใหม่ก็มีต้นเค้ามาจากวรรณกรรมมุขปาฐะนั้นเอง จึงต้องมีวิธีการที่จะทำให้วรรณกรรมมุขปาฐะนี้คงอยู่ในความทรงจำของคนให้มากที่สุด และยืนนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการที่ธรรมดาสามัญที่สุด ก็คือ การซ้ำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่าเรื่องและการขับบทกวี ผู้เล่าอาจจะเล่าซ้ำเรื่องเดิม บทเดิม โดยไม่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่นการเล่านิทานถึงตอนที่พระเอกเผชิญหน้ากับศัตรู อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทพรรณนานาถึงความหวาดเกรงของศัตรูคู่ต่อสู้ หรือเพิ่มเติมถ้อยคำและรายละเอียดให้มากขึ้นเพื่อให้ดูสมเหตุสมผลว่า พระเอกเป็นคนเก่งจริง ๆ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ก็คือการนำเรื่องไปสู่จุดสุดยอด และพระเอกก็จะได้ชัยชนะหรือประสบความสำเร็จอยู่เสมอ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่อง แต่การเล่าซ้ำในเนื้อเรื่องอันยืดนานนี้จะทำให้ผู้เล่านิทานหรือผู้ขับบทกวีมีโอกาสแสดงออกซึ่งศิลปะในการเล่าหรือขับร้องของเขาได้มากที่สุดเท่าที่เขาต้องการ

               1.2  ศึกษาค้นคว้า วิจัย ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในรากเหง้าพื้นเพของภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านวรรณกรรมอย่างแท้จริงต่อไป

 

      2    ฟื้นฟู

             2.1  นักวิชาการของอีสาน ควรริเริ่มลงมือปริวัตร ผลิตเอกสารทางด้านวรรณกรรมให้มีความแพร่หลายสู่สาธารณชนมากขึ้น

             2.2  ควรใช้สื่อมวลชนทุกสาขาให้เป็นประโยชน์ เพราะปัจจุบันนี้บรรดาสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็พร้อมที่จะอ้าแขนรับงานด้านนี้อยู่แล้ว เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลโดยสื่อมวลชน ทำให้ข่าวเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นได้แพร่หลายเป็นที่สนใจของผู้คนทุกชาติทุกภาษา หรืออาจเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

 

         3    ส่งเสริม

               3.1  ศิลปวัฒนธรรมชาติ จะมีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์ของชาติ การเปลี่ยนแปลงที่วัฒนธรรมเป็นห่วงมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง ไร้สำนึก ไร้การศึกษา และคัดเลือกว่าอะไรดี อะไรชั่ว และในวันข้างหน้าอาจทำให้วัฒนธรรมของชาติเกิดวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายขึ้นก็เป็นไปได้ ดังนั้นประเทศไทยควรเพิ่มความตระหนักให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการส่งเสริมทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะ เรื่องของ วรรณกรรมของชุมชน ของภาค ของประเทศ ให้มีจุดยืนที่เข้มเข็ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วย

                   1. กรมศิลปากร

                   2. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

                   3. กรมศาสนา

                   4. คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ

                   5. สถาบันการศึกษาต่าง ๆ

                   6. กระทรวงวัฒนธรรม

                   สถาบันต่าง ๆ เหล่านี้ ควรจะได้หาทางประสานงานกัน เพื่อวางแนวทางในการส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรมท้องถิ่น ให้เด่นชัดมากขึ้นกว่านี้

             3.2  ควรเร่งเร้าให้ประชาชนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านวรรณกรรมของตนเอง และสามารถใช้วัฒนธรรมนี้ให้เข้าถึงประชาชนทุกคน และแต่ละจังหวัดควรประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นของตนเองด้วย การส่งเสริมดังกล่าวจะทำให้เกิดความแพร่หลายในด้านค่านิยม ทำให้คนในท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากการเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเอง เช่น ให้คนในชุมชนหารายได้ด้วยการร้องหมอลำ โดยการนำวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น ท้าวขูลูนางอั้วมาเป็นบทในการแสด ให้หมอลำได้ลำ เช่นนี้ก็จะช่วยให้คนในท้องถิ่นเกิดรายได้และอนุรักษ์ วรรณกรรมไปด้วย

               3.3 สถาบันการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชนทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ควรส่งเสริมให้นักศึกษา และนักวิจัยจัดทำวิจัยในด้านวรรณกรรมท้องถิ่น แล้วนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ในการทำนุบำรุงการศึกษาทางภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรด้านวรรณกรรม เช่น หลักสูตรหมอลำ ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาภูมิปัญญาไทย และใช้เป็นเอกสารประกอบการ อบรมและสัมมนา

                3.4  ควรส่งเสริมผู้ที่สนใจในการประพันธ์บทกลอน เช่น บทกลอนลำ ให้เข้าใจในเรื่องของรูปแบบฉันทลักษณ์ และการเลือกใช้ภาษาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อทำให้บทกลอนลำที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคุณภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ


 

อ้างอิง

กิ่งแก้ว อัตถากร.  (2519).  คติชนวิทยา. กรุงเทพฯ.

ดนุพล  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดเลย.  พิมพ์ครั้งที่4.  เลย:  รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.

ธวัช ปุณโณทก,  (2537).  วรรณกรรมภาคอีสาน.  กรุงเทพฯ.  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ภัทรา ตั้งคำ.  (2529).  วรรณกรรมท้องถิ่นของเยอร์มัน.  กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์.  (2526).  ความรู้ทั่วไปทางภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราคำแหง

_________.  (ม.ป.ป.).  วรรณกรรมปัจจุบัน.  พิมพ์ครั้งที่ 15.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

รำเผย  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณศิลป์อีสาน.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  เลย: รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.

เสถียรโกเศศ  นาคะประทีป.  (2507).  การศึกษาวรรณคดีแง่วรรณศิลป์.  พระนคร: ราชบัณฑิตยสถาน.เสาวลักษณ์ อนันตศานต์.  (2538).  นิทานพื้นบ้านเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:

          มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อุดม บัวศรี.  (2546).  วัฒนธรรมอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.


ภาษาถิ่นอีสาน :อักษรธรรม และอักษรไทยน้อย เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:54โดยไม่ทราบผู้ใช้

ภาษาถิ่นอีสาน :อักษรธรรม และอักษรไทยน้อย

เรียบเรียงโดย บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย 

 

1. อักษรธรรมอีสาน

         อักษรธรรมอีสานพัฒนามาจากอักษรมอญโบราณ นิยมใช้บันทึกเรื่องราวทางศาสนา เช่น พระไตรปิฎก พระธรรมคัมภีร์ต่างๆ เป็นต้น ในประเทศไทยพบที่จารึกวัดสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย ลงศักราชตรงกับ พ.ศ. 2106  และที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่พบบริเวณเมืองหลวงพระบาง ลงศักราช ตรงกับ จ.ศ.889 หรือ พ.ศ. 2070

ตัวอย่างอักษรธรรม

เรื่อง  นางอั้วผูกคอตายใต้ง่าจวงจัน

 

2. อักษรไทยน้อย

         เป็นอักษรที่ใช้บันทึกเรื่องราวทางโลก เช่น เกี่ยวกับคดีโลกโดยเฉพาะกฎหมาย พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ หรือวรรณกรรมนิทานพื้นบ้าน ไม่นิยมเขียนเรื่องเกี่ยวกับคดีธรรม โดยเฉพาะเรื่องที่เขียนด้วยภาษาบาลี เพราะมีตัวอักษรน้อยไม่พอต่อการเขียน แต่นิยมเขียนภาษาถิ่น (ภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสาน)

         จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวไว้ว่า“…เมืองเวียงจันทน์ เวียงคำ เมืองชะวาหรือหลวงพระบางเป็นส่วนหนึ่งของของอาณาจักรสุโขทัยและเมืองบริวารอย่างล้านช้าง ซึ่งครอบคลุมถึงภาคอีสานของไทย ก็น่าจะใช้อักษรเหมือนหรือพัฒนาการมาจากอักษรเมืองแม่ นั่นคือ เมืองสุโขทัย และยิ่งในรัชสมัยพระยาลิไทพระองค์ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นักศาสนา…” (ในหนังสือของ อดุลย์ ตะพัง, 2543)

         ซึ่งจากข้อความข้างต้น อาจารย์ ดร.สุเนตร โพธิสาร ในเอกสารการสอนวันที่ 23 มกราคม 2559 เรื่องประวัติศาสตร์ภาษาลาว-อักษรลาว มีความเห็นต่างว่า “…บริเวณลุ่มน้ำโขงในอดีตยังใช้อักษรขอมและมอนมาบันทึกเรื่องลาวของตนเองอยู่ และไทยสยามยังใช้อักษรเขมรอยู่เมื่อสมัย พ.ศ.1700 รวมถึงในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ยังใช้อักษรเขมรด้วยเช่นกันเพราะในช่วงนั้นยังไม่มีอักษรไทยสยาม และจากการศึกษาของนักอักขระวิทยาพบว่า อักษรลาวได้พัฒนามาก่อนอักษรไทยสยามพระยาลิไทแห่งสุโขทัย (พ.ศ.1899-1919) ดังเห็นได้จากจารึกที่เขียนด้วยสีที่ฝาถ้ำนางอัน เมืองหลวงพระบาง หรือศิลาจารึกพระธาตุฮาง เมืองท่าแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ปี 1350 พ.ศ.1893 ก่อนอาณาจักรล้านช้าง ที่มีรูปแบบตัวอักษรและอัครวิธีในยุคของพระยาลังธิราช ปี ค.ศ.1271…”

ตัวอย่างอักษรไทยน้อย

เรื่อง พระเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี

(ผิดหลายคำอยู่เด้อครับ ช่วยกันแก้แหน่ครับ)

3. ปัญหาของการสูญเสียภาษา

          1. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาษา

                                1)  การเปลี่ยนแปลงด้านเสียง

                                     อาจจะเป็นเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การลงน้ำหนัก หรือโครงสร้างของพยางค์  ได้แก่ การสูญเสียง การเพิ่มเสียง การเปลี่ยนเสียง การรวมเสียง และการแยกเสียง

                                2)   การเปลี่ยนแปลงด้านคำศัพท์

                                      คือ การเปลี่ยนแปลงคำ ถ้อยคำ สำนวน การเปลี่ยนแปลงศัพท์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การสูญศัพท์ และการเพิ่มศัพท์

                                3)   การเปลี่ยนแปลงด้านไวยากรณ์

                                       หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของคำ ระเบียบของถ้อยคำ (บุรุษ พจน์ เพศ มาลา กาล)  และการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง

                                4)   การเปลี่ยนแปลงด้านความหมาย

                                      ได้แก่ ความหมายแคบเข้า  ความหมายกว้างออก และความหมายย้ายที่

         2. ปัญหาการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่น

                 วัยรุ่นไทยสมัยนี้นิยมใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อการติดต่อที่รวดเร็วและเนื่องจากความเร็วในการสื่อสารและความยากลำบากในการพิมพ์ตัวอักษรทำให้วัยรุ่นทำให้คำเหล่านั้นสั้นลงจนกลายเป็นภาษาวิบัติ

                ตัวอย่าง คำสะกดผิดได้ง่าย เป็นรูปแบบของคำที่มีการสะกดผิด ซึ่งเกิดจากคำที่มีการผันอักษรและเสียงไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์   เช่น  ชะมะ,ชิมิ ที่หมายถึง ใช่ไหม

                ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาที่วัยรุ่นทำให้เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยจนอาจจะทำให้ไม่มีเค้าโครงเดิมของภาษาไทยอีกต่อไป ฉะนั้นแล้ววัยรุ่นไทยควรช่วยกันถนอมและรักษาภาษาไทยเอาไว้ให้เหมือนอย่างที่มันเป็นมาตลอด

 

4. แนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาถิ่น

 

         1.  แนวทางในการอนุรักษ์ภาษาถิ่น

                1)  ควรนำภาษาท้องถิ่นเข้าสู่ระบบโรงเรียนให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมภาษาถิ่นในด้านการเรียนการสอนโดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษา ท่าทาง สำนวน หรือแม้กระทั่ง วัฒนธรรมท้องถิ่น ก็จะช่วยปลูกฝังให้เด็กสามารถเรียนรู้ รับรู้ การมีอยู่ คุณค่าและความสำคัญของภาษาถิ่น

                2)  ควรการปลูกฝังความความรู้ ความเข้าใจภาษาถิ่นตั้งแต่เด็กโดยการนำภาษาถิ่นไปใช้ในการเรียนการสอน

                3)  ควรการปลูกฝังให้เด็กมีความกล้าที่จะแสดงออก ในการพูดภาษาถิ่น

                4)  ควรมีการส่งเสริม สนับสนุน ภาษาถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

                5)   ควรมีการรณรงค์ และ ส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นอย่างแพร่หลาย

 

2.             แนวทางในการฟื้นฟูภาษาถิ่น

                1)  ช่วยกันรณรงค์ ส่งเสริมให้ เด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน เห็นว่าภาษาท้องถิ่นมีความสำคัญ และมีคุณค่า เป็นภาษาที่สวยงาม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและมนุษยชาติ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้ภาษาถิ่นคงอยู่ต่อไป โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว เพราะเด็กบางคนพูดภาษาถิ่นแต่ในบ้านหรือในครอบครัว แต่พอออกไปนอกบ้านไปอยู่ในสังคมเมือง สังคมใหญ่ๆ ก็จะพูดภาษากลาง จนในที่สุดก็จะลืมและละเลยภาษาถิ่นไป เพราะพูดภาษากลางจนเคยชิน จะหลงเหลือก็แค่สำเนียงเล็กๆน้อยๆ

                 ดังนั้นสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งแรกที่ควรปลูกฝังให้เด็กเห็นว่าภาษาถิ่นมี ความสำคัญอย่างไร และปลูกฝังให้เด็ก ไม่อายกล้าที่จะพูดภาษาถิ่นในสังคม หรือในครอบครัว  ส่วนสถาบันที่สองคือคนในสังคม ที่ไม่ควรทำรังเกียจหรือเห็นว่าคนพูดภาษาถิ่นเป็นสิ่งแปลกประหลาด เราควรยกย่องด้วยซ้ำ เพราะ ภาษาถิ่นมีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้

                2) กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายอย่างเริ่งด่วนให้มีการบรรจุหลักสูตรภาษาถิ่นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนภายในโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังให้เด็กเล็กๆ ตั้งแต่ อนุบาล ประถม มัธยม จนถึง มหาลัย ซึ่งเมื่อโตแล้ว เด็กสามารถคิดเองเป็นและ สามารถรับรู้ได้ว่า ควรดูแลรักษา ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ภาษาถิ่นของเราหายไป อย่างไร้ค่า ไร้ความหมาย

               3) นักวิชาการควรมีการศึกษาวิจัยภาษาถิ่นอย่างจริงจังเพื่อนำมาใช้ในสังคมอย่างเร่งด่วน เพราะภาษาถิ่นเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาภาษาถิ่นจะช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนได้ทางหนึ่ง ภูมิปัญญาของชาวบ้านด้านต่างๆ เช่น เพลงกล่อมเด็ก นิทาน ปริศนาคำทาย ชื่อบุคคล ชื่อพืชและชื่อสัตว์ ชื่อสิ่งของเครื่องใช้ ชื่ออาหารเครื่องดื่ม บทสวดในพิธีกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่นต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารถ่ายทอดทั้งสิ้น

 

5.  สรุป ภาษาถิ่นอีสาน

 

                จากการที่ผู้เรียบเรียงได้ศึกษาภาษาถิ่นอีสานทั้งประวัติความเป็นมา และอักษรที่เป็นต้นตอของอีสาน ก็ยิ่งทำให้ทราบว่าอักษรถิ่นอีสานกำลังเริ่มมีการฟื้นฟูด้วยระบบของรัฐบาล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า อักษรถิ่นอีสานเป็นภูมิปัญญาดั่งเดิมของคนอีสาน ได้แก่ อักษรไทยน้อย และอักษรธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2555 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2555 จำนวน 5 รายการด้วยกัน คือ 1) อักษรธรรมล้านนา 2) อักษรไทยน้อย 3) อักษรธรรมอีสาน 4) ภาษาชอง 5) ภาษาญัฮกุร และ 6) ภาษาก๋อง ซึ่งในรายการขึ้นทะเบียนมรดกดังกล่าวได้มี อักษรอีสานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเรียบร้อยด้วยเช่นกัน คือ อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมอีสาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ ก็เพราะว่า ภาษาและอักษรเป็นมดรกทางภูมิปัญญาของชุมชน เสี่ยงต่อการสูญหาย หรือเผชิญกับภัยคุกคาม เป็นต้น

                ถึงแม้ว่าอักษรอีสานได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาแล้วก็ตาม ถ้าหากยังไม่นำมาปฏิบัติใช้กันให้แพร่หลาย ประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คงอาจจะไม่เต็มที่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรเพิ่มบทบาทด้านอักษรประจำท้องถิ่นอีสาน คือ อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมอีสาน ให้ยอมรับกันได้แบบสากล เช่น มีการบรรจุลงในหนังสือเรียนของนักเรียนชั้นประถม มัธยม ให้เป็นวิชาบังคับเรียน เพียงเท่านี้ภาไทยน้อย และภาษาธรรมอีสาน ก็จะยังคงอยู่และยั่งยืนสืบไป

 

อ้างอิง

ธวัช  ปุณโณทก.  (2537).  วรรณกรรมภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

_________.  (2531).  ภาษาถิ่นของไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ป๋วย  อึ้งภากรณ์.  (2514).  ภาษาศาสตร์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

สวัสดิ์ วงศ์วิเศษ(2518).  ตำราเรียนอักษรโบราณกรุงเทพฯ : วงษ์สว่าง.

อดุลย์ ตะพัง.  (2543).  ภาษาและอักษรอีสาน. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์. (2527).  อักษรธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มนัส สุขสาย. (2543).  ตำราเรียนอักษรโบราณอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กาฬสินธุ์ : มูนมังไทยอีสาน.

 


อัตลักษณ์ของลำกลอนทำนองขอนแก่น โดยบุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:52โดยไม่ทราบผู้ใช้

อัตลักษณ์ของลำกลอนทำนองขอนแก่น

The Identity of Mawlum Songs as Sung and Compoled in Khon Kaen

 

บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

ศ.สำเร็จ  คำโมง



บทคัดย่อ

         การศึกษาอัตลักษณ์ของลำกลอนทำนองขอนแก่น มุ่งศึกษาอัตลักษณ์ที่ได้จากกลอนลำของครูผู้ประพันธ์กลอนลำ และครูหมอลำกลอนโดยเน้นศึกษา ฉันทลักษณ์ของกลอนลำ และสังคีตลักษณ์ของทำนองลำ ในการดำเนินการวิจัยได้ศึกษาเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยได้สัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต การสนทนากลุ่ม และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากครูผู้ประพันธ์กลอนลำ ครูหมอลำกลอน  และเนื้อหาของกลอนกลอนลำโดยการพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า

         ในด้านชีวประวัติครูผู้ประพันธ์กลอนลำ และครูหมอลำกลอน พบว่า มีชีวิตคล้ายคลึงกันคือครอบครัวมีฐานนะยากจน และมุ่งมานะเรียนรู้การขับลำและการประพันธ์กลอนลำจนประสบผลสำเร็จในชีวิต และมีการเผยแพร่ผลงานโดย จัดทำซีดีเผยแพร่ประกอบกับการได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรตามหน่วยงานของรัฐ และเอกชนต่าง ๆ จนมีลูกศิษย์มากมายนับไม่ถ้วน จะเห็นได้ว่าครูผู้ประพันธ์กลอนลำ และครูหมอลำกลอนมีความสนใจใฝ่เรียนรู้การประพันธ์กลอนลำที่เหมือนกัน   

         ในด้านอัตลักษณ์ของกลอนลำทำนองขอนแก่น พบว่า สังคีตลักษณ์ ลำแต่ละทำนองมีทำนองที่ตัดขาดจากกันได้อย่างชัดเจนไม่สับสนปนเปรอกัน ผู้ฟังสามารถจำแนกประเภทของทำนองลำได้ทันทีที่ได้ยิน และมีฉันทลักษณ์ การประพันธ์บทร้องใช้จำนวนคำ และแต่ละจังหวะตรงกับจำนวนพยางค์ ที่กำหนดในทำนองย่อยเอก ประโยค  เนื้อหากลอนลำทางสั้นมีการใช้รสของหัสสะไนยะวาที  เนื้อหากลอนลำทางยาวมีการเลือกใช้รสของเสาวรจนี และเนื้อหากลอนลำเต้ย มีการใช้รสของ หัสสะไนยะวาที และนารีปราโมทย์ มากที่สุด

คำสำคัญ : หมอลำ, อัตลักษณ์, จังหวัดขอนแก่น

 


นางอัปสรา : นาฏยลักษณ์จากภาพศิลาจำหลักประติมากรรมจามโบราณ โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:50โดยไม่ทราบผู้ใช้   [ อัปเดต 6 ก.ค. 2559 20:51 ]

นางอัปสรา :  นาฏยลักษณ์จากภาพศิลาจำหลักประติมากรรมจามโบราณ

 

บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย


 

          อาณาจักรจามปาโบราณตั้งอยู่บริเวณตอนกลางชายฝั่งทะเลของประเทศเวียดนามปัจจุบันในประวัติศาสตร์จามปานับตั้งแต่บทบาทของศิลปวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามารวมพุทธศตวรรษที่10-11จามปาต้องทำสงครามกับเขมรทางตะวันตกและเวียดนามทางเหนือตลอดในที่สุดจามปาก็ถูกกลืนโดยชนชาติที่มีวัฒนธรรมแบบจีนและ เวียดนาม จึงทำให้ศิลปะจามปาจึงมีลักษณะคล้ายทางอินเดียและสายจีนมาก ที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ ประติมากรรมในงานสถาปัตยกรรม อาจกล่าวได้ว่าลักษณะเด่นที่สุดของจามปา คือ ศิลปะด้านประติมากรรม นั่นเอง (สุรสวัสดิ์  ศุขสวัสดิ์,  2543)

          ประติมากรรมของจามนั้นมีอยู่หลากหลายชนิด แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมจาม ที่มีแนวการสร้างที่ไม่มีแม้แต่ในอินเดีย คือ การสร้าง  ศิวลึงค์ศิลาบนฐานโยนีทรงกลม แล้วรองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยม   อีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า เป็นศิลปะแบบจ่าเกี่ยว มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 16 ที่รอบฐานสี่เหลี่ยมทางหนึ่งสลักเป็นภาพนูนต่ำ เป็นนางอัปสรกำลังร่ายรำ (พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามเมืองดานัง,  2551)

 

 ภาพที่ 1 ศิลปะแบบจ่าเกี่ยว

 

         จากภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่า นางอัปสรามีความสำคัญมากต่อศิลปะในยุคจามปามาก ซึ่งนางอัปสรามีประวัติเรื่องราวอยู่ว่า นางเกิดมาจากการกวนเกษียรสมุทรตามคัมภีร์วิษณุปุราณะมีนาม อื่น ๆ อันได้แก่  สุรสุนทรี วิทยาธรี สุรางคนาง (เมียเทวดาทั่วไป) สมุทาตมชา(สตรีผู้เต็มไปด้วยความมัวเมาหรือในความเพลิดเพลิน)นางอัปสราเป็นเทพฝ่ายสตรีชั้นล่าง เป็นสตรีที่มีความงดงาม ประดับประดาด้วยเครื่องทรงที่วิจิตร แต่ไม่มีเทวดาหรืออสูรตนรับเป็นคู่ครอง พวกนางจึงทำหน้าที่สร้างความรื่นรมย์บนสวรรค์ขับกล่อมดนตรีและบำเรอกามแก่เทวดาทั้งหลาย นอกจากความงามที่ชายใดได้พบจนคลั่งไคล้แล้วในคัมภีร์อถรรพเวทยังมีมนต์แก้การลุ่มหลงมัวเมาในการพนันอันเกิดจากนางอัปสราอีกด้วย  อาจกล่าวได้ว่านางอัปสราเป็นเทพที่มีความงดงามมาก  แต่กลับมีชื่อเสียงแงลบว่าความลุ่มหลงมัวเมาต่างล้วนเกิดจากมนตราของนางอัปสราทั้งสิ้น(พลอยชมพู  ปุณณวานิชศิริ, 2556) 

         เป็นไปได้หรือไม่ว่าด้วยอัตลักษณ์ท่าร่ายรำของนางอัปสราที่ปรากฏอยู่บนภาพจำหลักของฐานโยนีหรือตามสถาปัตยกรรม อื่น ๆ ในเวียดนามก็ตามทำให้เกิดแนวคิด การเลียนแบบชุดการแสดง ที่เกี่ยวข้องกับนางอัปสราขึ้นเรียกว่าระบำนางอัปสราซึ่ง เครือจิต ศรีบุญนาค และคณะ  (2553)ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผสมผสานทางวัฒนธรรม และได้ศึกษาพบระบำอัปสราในเวียดนามใต้และพบระบำอัปสราจามที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นงานสร้างสรรค์ที่นำวัฒนธรรมเดิมผ่านระบบคิดสร้างวัฒนธรรมให้มีชีวิต เช่น ระบำอัปสราของกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบสถาปัตยกรรมขอมโบราณที่เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบการศึกษา มีการพลิกฟื้นวัฒนธรรมความเชื่อเดิมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนมีผลต่อด้านเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรม ที่นำภาพศิลาจำหลักนางอัปสราของจามโบราณ มาประดิษฐ์เป็นลักษณะการแสดงเฉพาะ เรียกว่า นาฏยลักษณ์

 

เปรียบเทียบท่ารำจากภาพศิลาจำหลักนางอัปสรา กับท่ารำระบำอัปสรา

 

ภาพที่ 2 ท่ารำ มือซ้ายไปทางขวาของลำตัว มือขวาหักข้อศอก งอเข่าย่อตัวลงของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์

           ประติมากรรมจามนครดานัง  และท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชม

           ปราสาทหินหมี่เซิน   

 

ภาพที่ 3 ท่ารำ เรียงตัวซ้อนกัน ยกแขน งอศอกของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามนครดานัง  และ

           ท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชมปราสาทหินหมี่เซิน   

ภาพที่ 4 ท่ารำงอแขนขวาไปด้านหลัง ยกแขนซ้ายงอศอกไปด้านหน้าของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์
          ประติมากรรมจามนครดานัง  และท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชม
          ปราสาทหินหมี่เซิน   

 

ภาพที่ 5 ท่ารำ งอเข่า งอศอกจีบมือขวา ของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามนครดานัง  

           และท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชมปราสาทหินหมี่เซิน   

 

            จะเห็นได้ว่าท่ารำ ในระบำนางอัปสราส่วนใหญ่มีการ ประดิษฐ์เป็นลักษณะการแสดงเฉพาะ คือ นาฏนาฏยลักษณ์ โดยลอกเลียนแบบจากภาพศิลาจำหลักของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามนครดานัง แล้วนำมาประดิษฐ์เป็นชุดการแสดงระบำนางอัปสรา ที่เวทีการแสดงก่อนถึงปราสาทหินหมี่ ที่เมืองมรดกโลกโฮยอาน ดังปรากฏดังภาพที่ 2 - ภาพที่ 5 และทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงมีทำนองคล้ายบทสวดสรภัญญ์ของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา คือ จังหวะของเพลงมีระดับปานกลาง ไม่ช้าและเร็วจนเกินไป เช่น “อัปสรา  อัปสรา” และ “มาลา ดวงดอกไม้ ขอตั้งไว้ เพื่อบูชา” ซึ่งได้สอดคล้องกับแนวคิดของ มานะ ชัยวงศ์โรจน์ (2548) ที่เกี่ยวกับการร่ายรำในศาสนา กล่าวว่า พิธีการร่ายรำในศาสนาฮินดูเป็นการบอกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเทพเจ้าผู้ร่ายรำจะแสดงท่ารำต่าง ๆ เรียกว่า มุดราสเพื่อสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง บทเพลงและการร่ายรำหลาย ๆ ศาสนามีคำสอนว่า การแสดงความสักการบูชาที่ดีที่สุด คือ การที่ให้คนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ทั้งทางร่างกาย และจิตวิญญาณ สิ่งนี้จึงนำไปสู่การประพันธ์และบรรเลงเพลง รวมทั้งการร่ายรำต่าง ๆ ทางศาสนา

         และการแสดงระบำอัปสรานี้ก็ได้ปรากฏในการแสดงของเขมรเช่นกัน โดยการแสดงระบำนางอัปสราของเขมร จะมีท่วงท่าและลักษณะการเคลื่อนไหวคล้ายกับการเคลื่อนไหวของนาคมาเป็นท่วงท่าการรำของตัวนางที่มีความอ่อนโยน ทั้งลีลาการใช้แขน มือขา และเท้า เอว สะโพก ลำคอ ใบหน้า สายตา และศีรษะ โดยทุกส่วนของร่างกายกระชับ และกลมกลืนกัน มีการเคลื่อนไหวทั้งท่วงท่าช้า ท่วงท่าเร็ว ให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษาท่า  (เครือจิต  ศรีบุญนาค และคณะ,  2553) ซึ่งการแสดงระบำนางอัปสราของเวียดนามก็มีท่วงทาลีลาคล้ายกับนาคเลื้อยของเขมรเช่นกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับ กลุ่มละครมะขามป้อม (2548) ที่ได้กล่าวไว้ในเนื้อหาของเอกสารประกอบการแสดงทางวัฒนธรรมครั้งที่ 22 ว่านาคของเขมรน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของอาณาจักรจามปาที่พบในเวียดนาม

 

สรุป

         นางอัสราเป็นเทพฝ่ายสตรีที่มีรูปร่างงดงามมาก ซึ่งคอยปรนนิบัติบำเรอเหล่าเทพเทวดาบนสวรรค์ และมีท่าร่ายรำที่สวยงามปรากฏตามศิลาจำหลักของประติมากรรมจามโบราณจึงเป็นที่มาของระบำนางอัปสราของเวียดนาม ซึ่งเป็นลักษณะของ นาฏยลักษณ์ คือ การประดิษฐ์ท่าตามภาพศิลาจำหลัก จากประติมากรรมจามโบราณซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางไปชมการแสดงของก่อนเข้าชมปราสาทหินหมี่เซินเป็นอย่างมาก การแสดงระบำนางอัปสราที่เวียดนามมีภาพสะท้อนอยู่ 3 ด้านได้แก่ 1) ด้านศาสนา ระบำนางอัปสรามีท่ารำที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเพื่อบูชาเทพเจ้า ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมโดยตรง 2) ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ระบำนางอัปสราได้ชุบชีวิตศิลปะ ให้ออกมาร่ายรำต่อสายตาชาวโลกเป็นการประดิษฐ์คิดสร้างวัฒนธรรมไม่ให้คนหลงลืมได้เป็นอย่างดี และ3) ด้านวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ ระบำนางอัปสราสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ชาวบ้าน ต่างก็มีรายได้จากการบริการนักท่องทั้งสิ้น

         จากเรื่องราวที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันนางอัปสราได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจริงๆ แล้วใช่ไหมนางกลับมาเพื่อต้องการเล้าโลมจิตใจเหล่ายอดชายในโลกไห้รุ่มหลงอีกครั้งจริงหรือหรือว่านางกลับมาเพื่อจุดประสงค์ใด หลังจากที่นางได้หลับใหลไปจากเมืองมนุษย์กว่าพันปี

 

อ้างอิง 

กลุ่มละครมะขามป้อม.  (2548).  เอกสารประกอบการแสดงทางวัฒนธรรมครั้งที่ 22 . 

          ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เครือจิต  ศรีบุญนาค และคณะ.  (2553).  การผสมผสานทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษาศิลปะการแสดงที่

          พัฒนาจากภาพศิลาจำหลักสถาปัตยกรรมขอมโบราณในประเทศไทยและกัมพูชา. 

          ทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม .

          คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์:  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร

พลอยชมพู  ปุณณวานิชศิริ.  (2556).  ลวดลายผ้านุ่งนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด

          ที่มาและรูปแบบ.  วิทยานิพนธ์.  สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ  บัณฑิตวิทยาลัย: 

          มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม เมืองดานัง.  (2551).   

          http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=plin&month=02-03-  
          2008&group=13&gblog=62  สืบค้น
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558

สุรสวัสดิ์  สุขสวัสดิ์.  (2543). เวียดนามสองรส.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์สายธาร.

 


หลวงพระบางเมืองมรดกโลก: ช้างสัญลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์สู่สินค้าหัตถกรรม โดยบุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:49โดยไม่ทราบผู้ใช้

หลวงพระบางเมืองมรดกโลก: ช้างสัญลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์สู่สินค้าหัตถกรรม

 

บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย


 

อาณาจักรล้านช้าง

 

          ในตำนานของขุนบรมมีคำว่าช้างปรากฏตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณปี พ.ศ.2063 และต่อมาก็ได้พบกับคำว่า ล้านช้าง ตามพงศาวดารฉบับต่าง ๆ เช่น ฉบับแรก พบปรากฏอยู่กับศิลาจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา ประมาณ พ.ศ. 2016 จารึกด้วยอักษรธรรมปรากฏคำว่า ศรีสัตนาคนหุตมหานครราชธานี คำว่า สตะนาคนะหุต แปลว่า ร้อย นาคะแปลว่าช้าง และนะหุตแปลว่า หมื่น เมื่อรวมกันแล้วจะได้คำว่า ช้างล้านตัว หรือล้านช้าง (ปิยฉัตร์ สินธุสะอาด,  2540)

          อาณาจักรล้าน ในยุคหนึ่งได้แบ่งออกเป็น 3 ราชอาณาจักร คือ 1) อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์2)อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และ3)อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์  เหตุการณ์แบ่งแยกอาณาจักรในครั้งนี้เกิดจาก อาณาจักรล้านช้างแก่งแย่งอำนาจของเหล่าเชื้อพระวงศ์ จะสังเกตได้ว่าถึงแม้อาณาจักรล้านช้างจะแตกออกเป็น 3 อาณาจักรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังใช้คำว่า “อาณาจักรล้านช้าง” ขึ้นต้นเป็นชื่อเรียกก่อนเสมอแสดงให้เห็นว่าช้างมีความสำคัญมากกับคนในอาณาจักรนี้

 

ช้างสัญลักษณ์และความศักดิ์สิทธิ์

 

 

 ภาพที่ 1  ธงชาติลาว

(ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ธงชาติลาว)

 

          คนลาวนับถือช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ เนื่องจากประเทศลาวมีช้างเป็นจำนวนมาก และในอดีตประเทศลาวยังใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำธงอีกด้วย (เสมา อุปถัมภ์,  2558: เว็บไซต์)

         

สัญลักษณ์

         ธงชาติลาว พ.ศ.2495-2518 สมัยพระราชอาณาจักรมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง มีรูปช้างเอราวัณ 3  เศียรสีขาว ยืนอยู่บนแท่น 5 ชั้น ซึ่งช้างเอราวัณ 3 เศียร หมายถึง เอกภาพของชาติ 3 อาณาจัก รูปพระมหาเศวตฉัตร หมายถึง เขาพระสุเมรุอันเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาร พื้นธงสีแดงคือ เลือดของประชาชนลาว และท่ายืนของช้างเอราวัณคือ กฎหมายของชาติ

 

ความศักดิ์สิทธิ์

         ประเทศลาวให้ความสำคัญกับช้างมากโดยเฉพาะช้างเอราวัณ 3 เศียร ซึ่งหมายถึงตัวแทนของพระอินทร์ และเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ โดยช้างเอราวันเป็นพาหนะของพระอินทร์บนสวรรค์ (วิยะดา ทองมิตร,  ม.ป.ป.: เว็บไซต์) และชื่อของช้างเอราวัณ ยังหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง หากรวมกันแล้วอาจแสดงความหมายว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์แล้วโปรยฝนลงมายังโลกมนุษย์ ซึ่งในไตรภูมิพระร่วงได้พรรณนาถึงความใหญ่โตของช้างเอราวัณว่า ช้างเอราวัณเป็นช้างผิวกายเผือก มีขนาดใหญ่เท่ากับภูเขา มี 33 หัว แต่ละหัวมีงา 7 งา รวม 231 งา มีสระบัว 1,617 สระ มีกอบัว 11,319 กอ มีดอกบัว 79,233 ดอก มีกลีบบัว 554,631 กลีบ มีเทพธิดา 3,882,417 องค์ และมีบริวารของเทพธิดาอีก 27,176,919 นาง และมีหน้าที่เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ ไปดูแลทุกข์สุขบนสวรรค์และโลกมนุษย์ รวมทั้งเป็นช้างศึกให้พระอินทร์ออกไปทำการรบกับพวกอสูรอีกด้วย ช้างเอราวัณจึงถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในจักรวาลนี้ เป็นสัญลักษณ์ของพระอินทร์ การทำความดี ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น รวมถึงเป็นช้างที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังจะเห็นได้จากงานศิลปกรรมต่าง ๆ ที่นิยมทำรูปช้างเอราวัณควบคู่กับพระอินทร์ (พิทักษ์ โค้ววันชัย, ม.ป.ป.: เว็บไซต์) จนกระทั้งได้นำมาใช้เป็นตราธงของอาณาจักรลาว ปี พ.ศ.2495-2518

 

หลวงพระบาง: เมืองมรดกโลก

 

         เป็นเวลากว่า 23 ปี ที่ประเทศลาวใช้สัญลักษณ์ช้าง 3 เศียรเป็นธงประจำประเทศจากการพัฒนาของสังคม และวัฒนธรรมของประเทศลาวมาจาก ยุค Indochina,  Revolution, New Economic Mechanism,  จนกระทั่งเมื่อ ปี พ.ศ. 2541 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก (ลาวเจาะลึกหลวงพระบาง,  2555: เว็บไซต์) ซึ่งทำให้ หลวงพระบางเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลก เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถาน เช่น วัดเก่าแก่ที่สำคัญ พระราชวังเจ้ามหาชีวิต รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเมืองหลวงพระบางเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติไปแล้ว (ภูษนิศา นันตยุ,  2554: เว็บไซต์)

         ส่งผลให้หลวงพระบางในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวกว่า ห้าแสนคนต่อปี (ประชาชาติธุรกิจ,  2558: เว็บไซต์) ส่วนใหญ่ก็จะมาเที่ยวชมโบราณสถาน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่วิจิตรงดงาม และสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นสินค้าหัตถกรรมด้วย (ปณิตา  สระวาสี,  2558: เว็บไซต์)

 

สินค้าหัตถกรรมหลวงพระบาง

 

         สินค้าหัตถกรรมของหลวงพระบางส่วนใหญ่เป็นสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ใช้ช่างฝีมือในการประดิษฐ์ และมีความงดงามด้านศิลปะ (หัตถกรรมพื้นบ้าน,  2556:  เว็บไซต์) งานหัตถกรรมพื้นบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ชาวหลวงพระบางให้ความสนใจ (ออรินตา ลีเคอร์,  ม.ป.ป.: เว็บไซต์) ร้านที่จำหน่ายงานหัตถกรรมที่ ขึ้นชื่อในหลวงพระบางได้แก่ ร้าน ออก พบ ตก ร้าน มาแต่ใส เป็นต้น

         แหล่งที่พบการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมมากที่สุดในช่วงกลางคืนที่เรียกว่า ตลาดมืดซึ่งเป็นตลาดที่นำสินค้าพื้นเมือง เสื้อผ้า ผ้าไหม ผ้าพันคอ กระเป๋าถือ ของที่ละลึก สินค้าที่ทำจากประชาชนเผ่าต่าง ๆ มาวางขายบนถนนสีสว่างทอดยาวไปจรดถนน สักกะสินในช่วงเย็น ประมาณ 17.00-22.00 น. (หลวงพระบางตลาดมืด,  ม.ป.ป.: เว็บไซต์) จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า ร้านขายของที่ละลึกส่วนใหญ่จะขายสินค้าที่มีลักษณะที่เหมือนกัน อาทิ ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าเย็บมือของม้ง (ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ย่าม ผ้ากันเปื้อน รองเท้าแตะ กระเป๋าใส่สตางค์) ลายที่เห็นมากที่สุดก็คือ “ช้าง”

         จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า “ช้าง” มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีความสำคัญกับคนลาวในอดีตแต่ในปัจจุบันช้างที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของธงลาว ได้ปรากฏอยู่ตามงานหัตถกรรม ได้แก่

 

 
 
         ด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นผู้เขียนจึงได้ทำการสัมภาษณ์คนลาวที่มีหลากหลายอาชีพได้แก่ หลวงปู่แสง กิตติสาโร, นางอัมพร พนาวัน  อาชีพค้าขายของชำ, นางลัดดาวัน ชุมพนภักดี อาชีพค้าขายของที่ละลึก,     ดร.นิดถาพง สมสนิท ผู้เชี่ยวชาญผ้า และ อาจารย์บัวเคน อนุรักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ พื้นเมืองหลวงพระบาง ต่างก็ให้ความเห็นที่สองคล้องกันว่า การที่คนลาวนำช้างมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในงานหัตถกรรมเป็นเรื่องปกติไม่ได้เสียหายแต่อย่างไร และทุกท่านได้กล่าวสอดคล้องกันอีกว่า ช้างเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระอินทร์ และพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลลาวก็จัดให้มีประเพณีแห่ช้างขึ้นที่แขวงไชยะบุรี ซึ่งก็สอดคล้องกับนิตยสารลาว อับเดท ท้ายเดือน มังกอน 2016 ที่ได้ลงข่าวบุญช้างที่แขวงไชยบุรี ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีช้างร่วมแสดง 67 ตัว ซึ่งในอดีตลาวมีช้างมากมายจนเป็นที่มาของ “ลาวล้านช้าง”  (อัปเดทวารสาร,  2559) และดร.นิดถาพง สมสนิท ยังได้กล่าวอีกว่า “หากจะนำรูปช้างมาทำงานหัตถกรรมก็ไม่แปลก แต่ต้องนำมาใช้กับสิ่งของที่เหมาะสม เช่น นำมาทำเป็นกระเป๋า โดยเฉพาะช้างสามเศียร เป็นต้น”

         จากการเปลี่ยนแปลงตามโลกโลกาภิวัตรของลาว โดยเฉพาะหลวงพระบางที่เป็นเมืองมรดกโลก ทำให้วัฒนธรรมได้มีการเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกับ รูปช้างที่ปรากฏอยู่ตามงานหัตถกรรมต่างๆ ที่วางขายภายในลาว เช่นในตลาดมืด เมืองหลวงพระบางซึ่งผู้เขียนมีมุมสะท้อนอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) การที่นำช้างมาเป็นสัญลักษณ์ในงานหัตถกรรม เช่น กระเป๋า หมอน ฯลฯ ถือว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์ในเชิญสัญลักษณ์ให้สอดคล้องกับความเข้าใจของคนลาวที่ว่า “ลาวล้านช้าง” คือ มีช้างจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้ในการท่องเที่ยว 2) การนำช้างที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ศักดิสิทธิ์เช่นช้างสามเศียรมาทำกระเป๋าหรือของใช้ที่เหมาะสมก็ถือว่ายังพอนุโลมและสามารถทำได้เพราะรัฐบาลลาวนั้นได้ส่งเสริมช้างโดยนำมาจัดเป็นประเพณีบุญช้างอยู่ที่แขวงไชยะบุรี แต่ต้องระวังในการนำรูปช้างมาใช้ในที่เหมาะสม

 

         ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์อันเป็นตัวแทนทางจิตใจของคนชาติลาว ถึงแม้ว่าวันนี้หลวงพระบางจะเปลี่ยนสถานะเป็นเมืองมรดกโลกแล้วก็ตามแต่ก็ยังคงอัตลักษณ์ไว้โดยเอารูปช้างมาประดิษฐ์เป็นงานหัตถกรรมเพิ่มเศรษฐกิจล่อเลี้ยงชีพของพวกเขา ซึ่งได้ทั้งรายได้และคงความเป็นอัตลักษณ์ด้วย เช่นเดียวกันกับ งานหัตถกรรมสัญลักษณ์รูปช้างลาวที่ปรากฏอยู่ตามตลาดมืดและที่อื่นๆ ในหลวงพระบางและในประเทศลาว

 

อ้างอิง

 

ประชาชาติธุรกิจท่องเที่ยว.  (2558, 19 ตุลาคม).  หลวงพระบาง 2020" ปั้นรายได้ท่องเที่ยว "กลุ่มพรีเมี่ยม.

          ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559,  จาก http://www.prachachat.net/news_
          detail.php?newsid=1445228567

ปณิตา สระวาสี.  (2558,  22 กันยายน). บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์

          ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559,  จาก  http://www.sac.or.th/databases/
          museumdatabase/article_inside.php?id=2011

ปิยฉัตร์ สินธุสะอาด. (2540).  สังคมล้านช้างตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23.

          วิทยานิพนธ์. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์:  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พิทักษ์ โค้ววันชัย. [ม.ป.ป.].  พระอินทร์ ราชาผู้ครองสวรรค์. ค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559,

          จาก http://www.siamganesh.com/indra.html

ภูษนิศา นันตยุ (2554,  22 กันยายน).  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว).

          ค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559, จาก http://www.opsmoac.go.th/
          download/BOFAA/Laos%2054.pdf

ลาวเจาะลึกหลวงพระบาง.  (2555,  11 ธันวาคม). ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, 

          จาก  http://2g.pantip.com/cafe/silom/topic/B13050606/B13050606.html

 วิยะดา ทองมิตร.  [ม.ป.ป.]. นิตยสารสารคดี.  ค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559,

          จาก http://travel.kapook.com/view5329.html

เสมา อุปถัมภ์.  (2558,  10 กันยายน).  สัตว์ประจำชาติลาว. ค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559,

          จาก http://laos-db.blogspot.com/2015/09/blog-post_9.html

หลวงพระบาง ตลาดมืด.  [ม.ป.ป.]. ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, 

          จาก  http://www.louangprabang.net/content.asp?id=167

หัตถกรรมพื้นบ้าน.  (2556,  26 พฤศจิกายน).  ค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559, 

          จาก  http://guru.sanook.com/6988/

ออรินตา ลีเคอร์.  [ม.ป.ป.].  ความหมายของ " หัตถกรรม".  ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, 

 จาก http://www.orientadecor.com/template/e1
          /show_article.php?shopid=10737&qid=15093
 

อัปเดทวารสาร,  (2559).  บุญช้างแขวงไชยะบุรี.  วารสาร. หลวงพระบาง

 

รายนามผู้ให้สัมภาษณ์

 

นิดถาพง สมสนิท.  (21 กุมภาพันธ์ 2559).  สัมภาษณ์.  ผู้เชี่ยวชาญผ้า.  โรงแรมอามาตากะ 
          สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง.

บัวเคน อนุรักษ์.  (21 กุมภาพันธ์ 2559).  สัมภาษณ์.  อาจารย์.  สถาบันวิยาลัยวิจิตรศิลป์

          พื้นเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง.

ลัดดาวัน ชุมพลภักดี.  (22 กุมภาพันธ์ 2559).  สัมภาษณ์.  แม่ค้าของที่ละลึก. ในวัดอาฮาม

          สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง.

แสง กิตติสาโร.  (22 กุมภาพันธ์ 2559).  สัมภาษณ์.  เจ้าอาวาส.  วัดศรีสวรรค์เทวโลก

          สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง.

อัมพร  พนาวัน.  (22 กุมภาพันธ์ 2559).  สัมภาษณ์.  แม่ค้าของชำ.  หน้าวัดอาฮาม

          สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง.

สุนทรียรสในวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสาน โดยบุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:48โดยไม่ทราบผู้ใช้

สุนทรียรสในวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสาน 

บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย


 บทนำ

 

         ภาคอีสานประกอบด้วย 20 จังหวัด มีเนื้อที่ทั้งหมด 170,218 ตารางกิโลเมตร 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย ภูมิประเทศของอีสานแบ่งเป็น 2 แห่ง คือ แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำชี  แม่น้ำมูล อาชีพหลัก  คือ เกษตรกรรม (สุวิทย์  ธีรศาสวัต,  2557) ในด้านวัฒนธรรมของภาคอีสานนั้น ชาวอีสานจะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง คือ มีภาษาพูด และภาษาเขียน (ตัวอักษรไทยน้อย และอักษรธรรม) เป็นของตนเอง (สำลี รักสุทธี,  2553) รวมถึงมีวรรณกรรมเป็นของตนเอง  อีกด้วย ซึ่งคนอีสานนิยมแต่งเรื่องราววรรณกรรมให้ผูกโยงเรื่องราวไปสู่พระพุทธศาสนา (อุดม  บัวศรี,  2546)  ซึ่งก็สัมพันธ์กันกับ อดุลย์ ตะพัง (2543) ในหนังสือภาษาและอักษรอีสานกล่าวว่า ภาคอีสานเคยเป็นดินแดนพุทธศาสนามาก่อน อักษรที่ใช้ก่อนพุทธศักราชที่ 16 เป็นอักษรปัลลวะ ปรากฏที่จังหวัดนครราชสีมา ใน พ.ศ. 1411 ซึ่งคนไทยมีความเชื่อดั่งเดิมอยู่แล้ว คือ การนับถือผี และพระโพธิสัตว์ ดังได้ปรากฏตามวรรณกรรมเป็นส่วนใหญ่ และเรื่องราวที่มีส่วนปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ คือ พระมาลัย พระเวสสันดรชาดก เรื่องนรก สวรรค์ เป็นต้น (จารุวรรณ  ธรรมวัตร,  2552) และวรรณกรรมส่วนใหญ่ของอีสานนี้มักจาน (เขียน) ไว้ในใบลาน เรียกว่า หนังสือผูก เก็บไว้ที่หอไตรในวัด ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา อาจนำมาเทศน์ หรือนำมาอ่านในงานงันเฮือนดี (งานศพ)  เช่น เรื่องการะเกษ สังข์ศิลป์ไชย สุริยวงศ์ เป็นต้น (รำเพย  ไชยสินธุ์,   2553)

         จากวรรณกรรมที่ปรากฏในหนังสือผูกดังกล่าว หากย้อนกลับไปเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 จะพบว่า ศิลปวัฒนธรรมกลุ่มไทย-ลาว หรือศิลปะล้านช้าง ของกลุ่มคนที่อพยพย้ายถิ่นมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาในอาณาจักรสยาม ได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมเดิมของตน โดยไม่ได้ทิ้งไปแม้แต่น้อย ดังที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คือ พระอุโบสถ หรือ สิม (วิโรฒ  ศรีสุโร,  2541) โดยมีการวาดรูปแต้มไว้ที่ผนังสิมเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้สิม โดยจะวาดทั้งด้านในและด้านนอกสิม เพื่อให้ชาวบ้านที่มาทำบุญได้ชม เรื่องที่วาดส่วนใหญ่ก็จะเป็นพุทธประวัติพระเจ้า 10 ชาติ และสังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น (พัฒยา จันดากูล,   ม.ป.ป. :  เว็บไซต์) 

         วรรณกรรมสินไซเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ โดยเล่าสืบทอดจากรุ่นต่อรุ่น นิทานสินไซได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นศิลปะบันเทิง หลายรูปแบบ เช่น หมอลำ หนังประโมทัย รวมไปถึงฮูปแต้ม เป็นต้น เรื่องราวของฮูปแต้มสินไซบนผนังสิม ไม่ได้มีครบทุกตอนผู้ดูสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวจินตนาการด้วยตนเองได้ เพราะช่างแต้มจะเลือกเอาเฉพาะฉากที่คนดูแล้วตื่นเต้นประทับใจจึงทำให้ฉากของสินไซในหลาย ๆ วัด มักจะซ้ำกัน โดยเฉพาะฉากการต่อสู้ผจญภัยของสินไซ (สุมาลี เอกชนนิยม, 2548) และช่างแต้มในลักษณะประเพณีอีสาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน จึงมีความรู้ในด้านเนื้อหาเรื่องราวจากการศึกษาพระธรรมค่อนข้างดี (บุรินทร์ เปล่งดีสกุล,  2554) รวมไปถึงวรรณกรรมนิทานพื้นบ้านด้วย

 

 ภาพประกอบที่ 1 แสดงภาพของหอยสังข์แปลงกายเป็นเรือสำเภาให้สินไซนั่งข้ามมหาสมุทร

 

            ในปัจจุบันวรรณกรรมสินไซ เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว กวีประพันธ์วรรณกรรมขึ้นด้วยแรงศรัทธา   ต่อพุทธศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เช่น

 

เมื่อนั้นปรางค์คำคลุ้มคนิงธรรมทรงมาก                      เห็นรุ่งญาณยอดแก้วเที่ยวใช้ชาติพระองค์

บัดนี้ข้าจักปุนแต่งตั้งไชชาตก์แปลธรรมก่อนแล้ว               เป็นที่ยูแยงเถิงพร่ำเพ็งภายซ้อย

(ธวัช  ปุณโณทก,  2537 , อ้างอิงใน เรื่องสินไช)

          ถอดความ: กวีได้ ศรัทธา ในธรรม รำลึกเห็นพระโพธิญาณที่กลับมาใช้ชาติ และผู้ประพันธ์ของกล่าวอธิบายพระธรรมเพื่อให้เห็นธรรมในภายหน้า

          วรรณกรรมนิทานเรื่องนี้ได้แพร่หลายมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ในภาคอีสาน เพราะว่ามีเรื่องราวตื่นเต้น ผจญภัยดี มีสำนวนไพเราะ เป็นแบบอย่างของการประพันธ์โคลงสาร (กลอนลำ) (ธวัช  ปุณโณทก,  2537) ในการเลือกสรรเอาฉัทลักษณ์หรือแบบรูปการประพันธ์มาใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระของเรื่องนั้น นักปราชญ์ด้านวรรณศิลป์ได้วางกฎเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ลีลาของคำ หรือเรียกว่า “สุนทรียรส” ซึ่งหมายถึง  กระบวนการพรรณนาที่เหมาะสม  ได้แก่ ความงามในด้านกระบวนการพรรณนา  หรือความงดงามในด้านอารมณ์สะเทือนใจ  อันเกิดจากกระบวนการพรรณนา  โดยมีกลวิธีในการประพันธ์อยู่ 4 แบบ และตั้งชื่อเรียกลีลาให้คล้องจองกันว่า   1) เสาวรสจนี คือรสแห่งความงาม รสแห่งการชมโฉม โดยปรกติใช้ชมความงามหรือโฉมของตัวละครในวรรณคดี แต่สามารถใช้รวมความถึงการชมความงามของสิ่งอื่น ๆ เช่น ภูมิทัศน์ สถานที่ และวัตถุ เป็นต้น 2) นารีปราโมทย์ คือรสแห่งความรักใคร่ เกี้ยวพาราสี  โดยปกติเป็นบทโอ้โลมปฏิโลมระหว่างตัวละครในวรรณคดี ตอนที่ฝากรักใคร่ต่อกัน 3) พิโรธวาทัง คือรสแห่งความเกลียดโกรธ ตัดพ้อต่อว่า แค้นเคียด เสียดสี และ 4) สัลลาปังคพิไสย คือรสเศร้าโศก คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ เป็นต้น (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์.  ม.ป.ป.)

 

ผลการศึกษาสุนทรียรสที่ปรากฏในวรรณกรรมสินไซผ่านฮูปแต้ม

 

         จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล วัดสนวนวารีพัฒนาราม หมู่ที่ 1 บ้านหัวหนอง ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น พบว่า ผนังด้านนอกสิมมีฮูปแต้มที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมพื้นบ้าน คือ เรื่องสินไซ ซึ่งฮูปแต้มที่ปรากฏอยู่ผนังสิมนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ และเมื่อผู้วิจัยได้นำวรรณกรรมสินไซที่ปริวรรตโดย จินดา ดวงใจ (ม.ป.ป.) มาเพื่อวิเคราะห์สุนทรียรสแล้วปรากฏว่า ก็ครบถ้วนทั้ง      4 แบบ คือ เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง และสัลลาปังคพิไสย ซึ่งการเลือกฮูปแต้มมาใช้ในการวิเคราะห์ในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกเอามาเพียงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เท่านั้น ซึ่งอาจมีบางตอนที่ไม่ได้ปรากฏในบทความนี้

            เริ่มต้นด้วยตอนยักกุมภัณฑ์ลักพาตัวนางสุมณฑา (วิปะลาสะบั้น) ยักษ์กุมภัณฑ์ได้ใช้ คาถาอาคมปราบผีที่คอยปกปักเมืองเปงจาลให้หวาดกลัว และร่ายมนต์สะกดจนนางสุมณฑาสลบแล้วจึงอุ้มนางสุมณฑาเหาะเหินขึ้นบนฟ้าจากไป ทำให้ชาวเมืองทั้งเสนา อำมาตร นางสนม ตกใจกลัววิ่งกันอย่างกลลาหน ร่ำไห้ ฟูมฟายกันทั่วพระราชอุทยานแห่งเมืองเปงจาล

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ คือ สัลลาปังคพิไสย แสดงถึงอาการหวาดกลัว คำว่ากลัวในที่นี้มีอยู่ 2  ประเด็น คือ 1) ตกใจกลัวยักษ์กุมภัณฑ์จะเอานางสุมณฑาไปฆ่ารวมทั้งกลัวตนจะถูกยักษ์ฆ่าด้วย 2) กลัวพระยากุศราชจะลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตเพราะไม่ดูแลนางสุมณฑาให้ดีปล่อยให้ยักษ์กุมภัณฑ์จับตัวนางสุมณฑาไป ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

ภาพประกอบที่ 2 แสดงภาพของยักษ์กุมภัณฑ์อุ้มพานางสุมณฑาไปจากอุทยานเมืองเปงจาล

 

เทื่อนี้     กูแอ่วได้โดยประโยชน์อันคนิงแลเด      มันก็ฮวยอาคมผาบผีชุมเชื้อ

เมื่อนั้น   ผีเมืองย้านยักโขขามเดช                   ละแก่นแก้วกลางห้องพ่ายพัง

นางคะมะให้ดิ้นดั่นทวงสลบ                          พระกาโยเหลืองหล่าตนตายกระด้าง

มันคอยตุ้มตะโนมนาดเฮียงฮส                       คาแคงควรระวังองค์แก้ว

ฟังยินทมๆ ฮ้องเสียงคนคุงเมฆ                       มะโนนาดคุ้มคือบ้าทั่วทะลัง

หื่นหื่นพร้อมเสเนตนางขุน                             ตีทวงทบท่าวแด่ดอมน้อย

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 9)

 

         ถอดความ: ยักษ์กุมภัณฑ์ได้มาในครั้งนี้ด้วยได้ประโยชน์อันมากโข และได้ร่ายคาถาอาคมกำหลาบผีบ้าน ผีเมือง เมื่อผีเมืองเกรงกลัวในอำนาจของยักษ์กุมภัณฑ์แล้ว จึงได้หนีจากห้องหอปราสาทราชวังไปและนางสุมณฑาได้ตกใจจนเป็นลมสลบลง ร่างกายได้สูปเหลือง ยักษ์กุมภัณฑ์จึงอุ้มเอานางสุมณฑาอย่างระมัดระวังทันใดนั้นเอง ก็เกิดความโกลาหนในหมู่บ่าวไพร่ ขุนนางน้อยใหญ่พากันร้องไห้โหดังกับคนที่คุ้มคลั่ง และอยากได้นางสุมณฑากลับคืนมา

            หลังจากพระยากุศราชสูญเสียน้องสาวให้ยักษ์ไปวันนั้นก็ได้ออกบวชเพื่อหวังให้ผลบุญส่งตนได้พบกับนางสุมณฑา จนไปพบกับลูกของเศรษฐี ทั้งเจ็ดนาง พระยากุศราชจึงขอนางทั้งเจ็ดจากเศรษฐีมาเป็นพระฉายา และได้พานางทั้งเจ็ดกลับมาที่เมืองเปงจาล กาลเวลาได้ล่วงเลยผ่านไป พระยากุศราชคิดถึงนางสุมณฑาจึงได้บอกกับมเหสีทั้งแปดคนว่า ใครมีบุตรให้แก่พระองค์ได้ พระองค์จะยกแก้วแหวนเงินทองให้ทั้งหมด และบุตรที่เกิดมานั้นต้องมีบุญญาธิการสามารถไปตามหานางสุมณฑาได้ 

            และแล้วนางลุนและนางจันทาก็ได้ตั้งครรภ์ (ปฏิสนธิบั้น)พี่น้องทั้ง หกคนกลุ้มในดวงจิต เป็นอย่างยิ่งที่นางลุนน้องคนที่เจ็ดของตน และนางจันทาซึ่งเป็นพระมเหสีเอกของพระยากุศราชนั้นทรงตั้งครรภ์ จึงทำให้นางทั้งหกคนกระทำทุกวิถีทางด้วยกระบวนการบนบานต่อแถนเทวดาก็ยังไม่ตั้งครรภ์และพระยากุศราชก็ตั้งเงื่อนไขไว้ว่าหากภรรยาคนใดมีบุตรให้ตนได้ ตนจะยกราชสมบัติให้ครอบครอง นางทั้งหกจึงเกิดความบ้า คือ อิจฉาริษยาแม้กระทั่งน้องสาวของตนเองที่ตั้งครรภ์ จึงได้วางแผนการใส่ร้าย นางลุนและนางจันทาจนได้ออกจากเมืองเปงจาลไป

            รสทางภาษาที่กวีเลือกใช้ในการประพันธ์ คือ พิโรธวาทัง กวีได้แสดงให้เห็นถึงการแก่งแย่งชิงดี ความโลภในหมู่ญาติพี่น้อง สะท้อนถึงความไม่เพียงพอในกิเลสของมวลมนุษย์ ทำร้ายได้กระทั่งพี่น้องสายเลือดเดียวกัน  ตัวอย่างคำกลอน เช่น

  

ภาพประกอบที่ 3 แสดงภาพมเหสีทั้งหกนางอยู่ในเมืองเปงจาลหลังจากที่นางลุนและนางจันทาถูกเนรเทศ

 

เมื่อนั้น   หกพี่น้องเนาฮ้ายฮำคาน      

บัดนี้      พายเพื่อนเจ้าเฮาฮ่างพอยหมอง แลนอ             กรรมใดเบียนบาบเองอายหน้า

แหนงสู้เคียนคอขึ้นโตนตาย                                       แล้วชาติจักอยู่ได้เป็นน้อยเพื่อนหยัน แลเดอ

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 34)

 

         ถอดความ: ทั้งหกพี่น้องอาศัยอยู่ในวังด้วยความรำคาญใจ พวกพี่น้องที่อยู่ร่วมกันนี้ไม่มีลูกสักคน หรือเป็นเพราะเวรกรรมที่มาบดบัง ช่างแสนอับอายยิ่งนัก อยากผูกคอตายให้รูแล้วรู้รอดไปสักที หากชาตินี้ไม่มีลูกให้กับพระยากุศราชต้องถูกพี่น้องเย้ยหยันแน่นอน

            หลังจากที่นางทั้งหกได้วางแผนขับไล่นางลุนและนางจันทาออกจากเมืองเปงจาลสำเร็จแล้ว ต่อมาไม่นานทั้งหกคน ก็ได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกชาย (โอรส)หกคน ทั้งหกกุมารได้เติมใหญ่พระยากุศราชได้ให้ไปตามหานางสุมณฑา ตามความประสงค์ที่ตั้งไว้ทันที ทั้งหกกุมารได้เดินทางไปพบกับสินไซ และได้เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดให้กับสินไซฟัง สินไซจึงพาทั้งหกกุมาร ไปพบ นางลุนและนางจันทา ซึ่งเป็นป้าของทั้งหกกุมาร

         กวีแสดงให้ถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ สะท้อนถึงคุณความดีของสินไซที่มีต่อพี่น้องไม่คิดอาฆาตพยาบาททั้งที่รู้ว่า มารดาของตนมาอยู่ในป่าเพราะอะไร กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ เสาวรจนีคือ กุมารทั้งหกได้เห็นปราสาทของสินไซก็ตกตลึง เห็นถึงความงามเปรียบดังเห็นวิมารบนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าดาวดึงส์ ทำให้เกิดความเลื่อมใสสัทธาถึงความมหัศจรรย์ตามที่เห็นในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างคำกลอน เช่น

  

ภาพประกอบที่ 4 แสดงภาพของสินไซพากุมารทั้งหกมาหานางลุนและนางจันทาที่ปราสาทของตน

 

เมื่อนั้น  หกส่ำท้าวทะแนวแนบเฮียนความ         ฝูงข้าเนาเปงจาลจากมาหลายมื้อ

เมื่อนั้น  บาฮามฮู้เชิญเถิงสถานมาศ                 เขาก็ตามบาทเจ้าจอมสร้อยสู่ปรางค์

สะพรั่งพร้อมยำราชกุมาร                 เลงดูปรางค์เปรียบดาวะดึงฟ้า

เขาก็เฮียงมือน้อมสลอนแถวถ่านต่ำ      สองแม่ป้าปุนเยี่ยมล่ำเลง

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 46)

            ถอดความ: กุมารทั้งหก ได้เล่าเรื่องราวให้สินไซฟังว่าพวกตนมาจากเมืองเปงจาลและเดินทางมาหลายวันแล้ว สินไซได้ฟังทั้งหกกุมารเล่าทั้งหมดก็ทราบเรื่องและรู้แจ้งว่าทั้งหกกุมมารคือญาติของตน จึงได้พาทั้งหกกุมารไปที่ปราสาทที่ตนอาศัยอยู่ เมื่อทั้งหกกุมารเดินทางมาถึงปราสาทก็ต้องตกตะลึงถึงสิ่งที่เห็น คือความงามของปราสาทที่ปรากฏอยู่กลางป่า และทั้ง หกกุมารก็ได้กราบอาทั้งสองคือ นางลุนและนางจันทา

             ทั้งหกกุมารได้เล่าเรื่องราวให้ป้าทั้งสองฟังแล้วขออนุญาตให้สังข์สินไซไปตามหาอาด้วย ป้าทั้งสองก็อนุญาต และแล้วทั้งหกคนก็ออกเดินทางไปตามหานางสุมณฑา ที่ถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักพาตัวไป สินไซและกุมารทั้งหกก็ได้เดินทางมาถึงด่านของงูซวง และสินไซต่อสู้กับพยางูซวง ด้วยอาวุธที่ทรงอนุภาพ คือ ธนูยิงงูซวงและใช้ดาบฟันงูซวงขาดเป็นท่อนเป็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างคนกับงูยักษ์

            กวีแสดงให้เห็นถึงสงครามกับผู้ที่มีอิทธิพล แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมอ้อนข้อของผู้ที่มีอำนาจถึงแม้ว่าผู้ที่รักความสันติสุขจะอ้อนวอนไกล่เกลี่ยขอร้องแล้วก็ตามก็ไม่อาจเป็นผล การที่งูซวงไม่ยอมให้สินไซผ่านด่านอาจเป็นเพราะว่า 1) กลัวเสียศักดิ์ศรีของพระยางูยักษ์ที่ลั่นวาจาไว้แล้วว่าไม่ให้ผู้ใดที่ล่วงล้ำในเขตแห่งตนผ่านไปได้ 2) ทำตามคำสั่งของนายซึ่งก็ขัดขืนไม่ได้ จึงทำให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ คือ สัลลาปังคพิไสย แสดงถึงภาพโศกนาฏกรรมความสูญเสียล้มตายอย่างน่าเวทนาของงูซวงที่ถูกสินไซ ฆ่าตายจนเหลือแต่ซาก ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 5 แสดงภาพของสินไซต่อสู้กับงูซวง

 

เลือดหลั่งล้นศรเสียบแสนที                        เมื่อนั้น สีโหเห็นเหตุบาแฮงน้อย

ทะยานแทงใค้กลางตัวตัดขาด                        ม้างท่อนท้ายหางหั้นมุ่นมิน

ยังไป่ดับมอดเมี้ยนก้ำฝ่ายทางหัว                     ภูธรหลบหลีกไวเวียนฆ่า

ลายตกฮ้อนเป็นไฟทุกที                                ภูวนาดน้าวศรแกว่งยิงปืน

เล่าตัดขาดข้อนฟันแหล่งหัวทะลาย                  ซวงตายเต็มหว่างดอยดูฮ้าย

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 53)

 

            ถอดความ:  สินไซใช้ศรยิ่งเสียบงูซวงนับแสนครั้ง จนเลือดงูซวงไหลนองเต็มพื้น และสีโหเห็นเช่นนั้นแล้วจึงใช้ดาบฟันงูซวงจนขาดเป็นท่อน แต่ก็ยังไม่สิ้นฤทธิ์เพราะหากจะฆ่างูซวงให้ตายได้ก็ต้องตัดที่หัว ส่วนร่างของงูซวงที่ขาดเป็นท่อนกล่ายเป็นไฟทั่วพื้นปฎพี สินไซใช้ศรยิ่งที่หัวงูซวงจึงตายเกลื่อนที่หุบเขาอย่างอนาคต

            หลังจากที่งูซวงได้ตายหมดสิ้นแล้ว สินไซและกุมมารทั้งหก ก็ได้เดินดงตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อติดตามหาอา และในระหว่างทางนั้นสินไซก็ได้เห็นภูผาตั้งตระหง่านตา ต้นไม้น้อยใหญ่เรียงรายกัน ออกลูกผลเต็มต้นรวมทั้งมีสัตว์ป่ามากมาย

กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์  เสาวรจนี คือ บรรยายภาพธรรมชาติที่งดงามที่อุดมไปด้วยต้นไม้และสัตว์ป่า ที่เนื่องแน่นอย่างน่าอัศจรรย์ ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 6 แสดงภาพของสินไซและสังข์ทองเดินดง

 

เมื่อนั้น   อระมัยหน้าน้อยนาดนงไว                 ลีลาเสด็จด่วนตามตนน้อง

เหลิงดูสองตาบตั้งผาภาคเพียงพระโยม             พุ่นเยอ  ชะนีนงครานค่อนเสียงสูญถ้ำ       

ไสวต้นจันแดงเดียระดาษ                           ทรงลูกล้นหอมเฮ้าฮ่มผา

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 55)

 

            ถอดความ: สินไซได้เดินตามหอยสังข์ และทั้งสองข้างทางมีแต่ภูผาตั้งตระหง่านตาเสียงชะนีร้องดั่งก้องไปถึงในถ้ำที่ไร้ร่องรอยคน ต้นจันสีแดงยืนต้นเรียงรายออกผลมากมายกลิ่นหอมทั่วหน้าผา

            ทั้งแปดคนได้เดินทางมาถึงด่านยักษ์กันดารและได้สู้รบกันจนสะเทือนไปทั่วแผ่นดิน การจะสู้กับยักษ์ให้ชนะได้นั้นเห็นทีจะลำบากเหลือเกิน พระยักษ์มีฤทธิ์เดชมาก แต่ก็มิอาจต้านทานอาวุธของสินไซได้

            กวีได้สะท้อนให้เห็นถึง การใช้อำนาจในการที่มิชอบมิควร รังแกผู้ที่ด้อยกว่า โดยลืมนึกไปถึงกงกรรมกงเกวียน ที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง ผลสุดท้ายคนเหล่านี้ก็จะเสื่อมอำนาจลงและชีวิตก็จะล้มเหลวลงในที่สุด กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ พิโรธวาทัง คือ ความโกรธแค้นสินไซที่เข้ามาในเขตแดนของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ สัลลาปังคพิไสย คือ สินไซได้ฆ่ายักษ์ล้มตายเลือดนองไหลทั่วพื้นพิภพ เกิดความสูญเสียเศร้าสลดเสียใจแก่เผ่าพันธุ์วงศาของยักษ์ในครั้งนี้  ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 7 แสดงภาพของสินไซต่อสู้กับยักษ์ซึ่งเป็นบริวารของยักษ์กุมภัณฑ์

 

            เมื่อนั้น  กันดารต้านคำแขงขีนขนาด    วรุณยักษ์ผู้ลือล่ำแม่นกูนี้แล้ว 

ในเขตด้าวดงด่านพระคีรี                  ตัวใดเดินมาพบขาดชีวังมีมั่ว…..

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 56)

พระบาทท้าวมีอาจกลัวเกรงสะน่อยนั้น ภูธรถอนแม่ธะนุปูนเปื้อง

หลังหักค้นครางตายฮ้องฮ่วน             มันเล่ายังพ้นฟ้งไฟไหม้ลวกลอน

เลือดหลั่งป้านเป็นป่ามไฟแดง            ภูธรทรงคันไชยป่ายคอสเด็นกลิ้ง

เลยเล่าดันขันธเมี้ยนเสียชีวังมรณาต     คิงท่อด้าวดอยน้อยคอบคาว

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 56-57)

 

         ถอดความ:  ยักษ์กันดานไม่ฟังคำสินไซ กล่าวใดๆ ทั้งสิ้นยักษ์ที่มีอำนาจมากที่สุดคือยักษ์กันดานตนเดียว แม้ว่าใครเดินผ่านเข้ามาในเขตแดนนี้จะต้องตายทันที

         หลังจากที่ยักษ์กันดานไม่ยอมให้สินไซผ่านทางจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ซึ่งสินไซมิได้กลัวฤทธิ์ของยักษ์กันดานอยู่แล้ว สินไซจึงได้ยิงธนูใส่ยักษ์ ทำให้ยักษ์กันดานเลือดไหลนองเป็นไฟสีแดง สินไซใช้ศรยิงที่หัวยักษ์ขาดกระเด็น และใช้ดาบฟังยักษ์จนตายสิ้น ร่างของยักษ์นั้นใหญ่มากจนเท่ากับภูเขา

         หลังจากที่สินไซได้ชัยชนะจากยักษ์แล้วจึงได้เดินทางต่อจนถึงด่านพระยาช้างฉัททันต์ สินไซได้รุกล้ำเข้าไปในเขตของพญาช้างพรายสาร ทำให้พญาช้างโกรธกริ้วเป็นอย่างมาก และกำลังจะเกิดสงครามระหว่างช้างกับมนุษย์ สินไซจึงใช้ธนูยิ่งขึ้นไปบนฟ้า ทำให้เกิดฟ้าผ่าสะเทือนทั่วเวหา ทำให้บริวารช้างตื่นหวาดกลัวเป็นยิ่งนัก

         กวีได้เขียนพรรณนาถึงความกลัวตายของช้างป่าจนร้องไห้กันระงม พญาช้างพรายสารจึงขอให้สินไซยกโทษให้ตน พร้อมกับเหล่าบริวารด้วยความมีเมตาของสินไซ จึงอภัยให้

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ พิโรธวาทัง คือ พยาช้างพรายสารมีความโกรธกริ้วที่สินไซรุกล้ำเข้าไปในดินแดนของตนและสัลลาปังคพิไสย ที่เหล่าช้างมีความหวาดกลัวร่ำไห้กลัวตาย ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 ภาพประกอบที่ 8 แสดงภาพของพญาช้างพรายสารกำลังจะต่อสู้กับสินไซ

 

เมื่อนั้น   พึงคณนาพร้อมหัถถีแสนส่ำ               เห็นแจ่มเจ้าจวนสะท้านทั่วไพร

ช้างตื่นเต้นเต็มแผ่นปถะพี                 ระงมงันคือคู่ดินดาซ้าย

ภูมีเยี่ยมพึงคะณาช้างถ่าว                 เขาแล่นล้นลงพร้อมเผือกสาร

ทูลอาชญพร้อมพายขนาดฉัตทัน         นาโคถึงแกว่งงาเงยไค้

ตาแดงเข้มคือแสงสุริเยต                   อำมาตยม้างฝูงกล้าก่อนพระองค์

เคียดเพื่อมาล่วงล้ำขงเขตรดูแคลน       กูจักกินไตตับโม่มมันตางเมียง

            เค็งๆ พร้อมมามวลมัวมืด                 คันว่าใกล้ฮอดท้าวทวยต้องต่อยธะนู

เสียงแผดเพี้ยงฟ้าลั่นลงกระวาฬ         พายหลวงหลบตื่นซวนเซล้ม

บริวารล้นเนืองนองในป่า                  สายใหญ่น้อย โยมเจ้าเหล่าลง

พาบ ๆ ชลเนตนองไหล                    กลัวตายทุกทั่วแดนดูฮ้าย

นาโคเยื้อนโยมความขอโทษ                          เจ้าจงโผดข้าเถ้าทั้งเชื้อสู่ชุมแด่ท่อน

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 58)

 

         ถอดความ: ช้างนับแสนตัวได้เห็นสินไซรุกล้ำเข้าไปในป่าแห่งช้างต่างก็พากันตื่นเต้น และแตกตื่นกันทั้งโขลง สินไซได้ขอพบกับพญาช้างฉัตทัน บริวารช้างจึงไปรายงานเรื่องราวของสินไซให้กับพญาช้างได้ฟัง ซึ่งพยาช้างฉันทันณมีตาแดงเข้มดังดวงอาทิตย์ เสนาอำมาตรช้างได้ยินดังนั้นก็โกรธโมโหแทนพยาช้างและใช้คำขู่จะฆ่ากินตับไตของสินไซทันที        

         หลังจากนั้นสินไซจึงสั่งสอนช้างโดยการ ยิงศรขึ้นฟ้าทำให้เกิดฟ้าผ่า สะเทือนไปทั่วปัฐพี ทำให้ช้างวิ่งหนีตายกันกลัวจนร้องไห้ พญาช้างฉันทัณฑ์ จึงขอโทษสินไซและขอร้องให้ยกโทษให้ช้างทุกตัวด้วย

         เมื่อสินไซได้สั่งสอนช้างแล้วจึงได้เดินทางมาถึง ด่านนารีผล สินไซได้ไปถึงด่านของนารีผลที่มีรูปร่างงดงามผิวพรรณเปล่งปลั่งอ่อนนุ่ม กลิ่นหอมตลบอบอวนทั่วป่า จนสินไซห้ามใจตนไว้ไม่ไหว และในขณะนั้นก็มีวิทยาธรที่คอยดูแลป่าและเหล่านารีผลได้เข้ามาพบสินไซและได้ต่อสู้กันจนวิทยาธรพ่ายแพ้ไปในที่สุด กวีได้พรรณนาให้เห็นถึงรูปลักษณ์ของหญิงงามได้อย่างเห็นภาพพจน์ที่แม้แต่ชายใดได้เห็นแล้วต้องหลงใหล แต่ในความงามเหล่านี้ก็มีภัยแฝงอยู่อย่างน่าอันตราย ดังนั้น มนุษย์จึงต้องตั้งมั่นด้วย สติ สมาธิ และปัญญาอยู่เสมอ และรู้จักไตร่ตรองคิดให้รอบก่อนที่จะทำกิจต่าง ๆ

      กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ นารีปราโมทย์ คือ สินไซได้เกี้ยวพาราสีกับนารีผลด้วยการหลงใหลในความงาม และพิโรธวาทัง คือ วิทยาธรโกรธที่เห็นสินไซเข้ามารุกล้ำดินแดนของตนและมาเกี้ยวพาราสีกับนารีผล ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

ภาพประกอบที่ 9 แสดงภาพของสินไซเกี้ยวพาราสีกับนารีผลและต่อสู้กับวิทยาธร

 

อันว่า     นารีนี้คือหญิงยวดยิ่งแท้นอ                ลางเล่าไว้พอเพี้ยงแพศเพียง

ไพรขวงโอ้หอมสะเทือนในเถื่อน          ฮสฮ่วงเฮ้าดวงซ้อนป่งซอน

คิงกลมล้วยแขนกองก้าวก่อง              เนื้ออ่อนเกี้ยงปุนต้องแผ่นทอง

เมื่อนั้น  สมพาวท้าวทงกระสันอกสั่น                ภูวะนาดน้าวเถิงท้าวแทบพระทัย

พระก็ชมชอบซ้อนในฮ่มนีฮม             คือคู่เจียมปางฮักฮ่วมพานางฟ้า…

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 64)

            ธรเทพะเถ้าฝูงฮ้ายฮ่อนมา                 เลยเล่าเห็นแก่นแก้วพิเศษศิลปไชย

เขาก็โกรธาเห็งฮ่อเชิงไชยไกล้….          เมื่อนั้นศรีคานน้อยศิลปะชัยชมชื่น

บาก็เห็นฮ่างฮ้ายธรเถ้าแต่งตัว             ฮู้บ่อพั้งพระองค์ถอดศรีเสด็จ

ทะยานเวหาฮ่อธรทานด้าง                ธรทวยก้าวกำเชยเปื้องป่าย

พันหมื่นชั้นบาเว้นบ่ถอง

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 65)

            ถอดความ: นารีผลคือ หญิงที่งามยิ่งนักคล้ายกับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมโอบอวนไปทั่วทั้งป่า แขนเรียวสวยเนื้อตัวอ่อนนุ่มสีนวลเหลืองดังแผ่นทอง จนทำให้สินไซหัวใจสั่นคลอน ดึงนารีผลมาแนบชิดลำตัวตรงกับหัวใจสินไซก็ได้เชยชมนางนารีผลใต้ร่มไม้ เหมือนดังกับได้รักอยู่กับนางฟ้า ทันใดนั้นเองวิทยาธรผู้โมโหร้ายก็ได้มาพบเห็นสินไซอยู่กับนารีผลจึงจู่โจมเข้ามาหวังฆ่าให้ตายทันที  แต่สินไซไหวตัวทันจึงได้ใช้ศรยิงวิทยาธรโดยไม่ยั้งมือจนวิทยาธรผ่ายแพ้ไป

            สินไซจึงได้เดินทางต่อไปจนถึงด่านนางเทพกินรีเกียงคำ ที่งดงามดั่งกับนางฟ้า บินวนเวียนอยู่บนเวหา ลัดเลาะหน้าผาสูงชันบริเวณนั้นมีแหล่งน้ำที่ นางกินรีใช้เป็นแหล่งอาบน้ำ และสินไซได้พบนางกินรีที่ถอดปีกถอดหางทำให้สินไซหลงใหลนางกินรีทันควร

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ นารีปราโมท คือ สินไซได้เกี้ยวพาราสีอยู่กับนางกินรีด้วยการหลงใหลในความงามดุจดังราวกับนางฟ้าที่ลงมาเมืองมนุษย์ ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

ภาพประกอบที่ 10 แสดงภาพของสินไซเกี้ยวพาราสีอยู่กับนางกินรี

           

 

ผู้ข้า       เป็นพงษ์เชื้อเดียระฉานสินต่ำ                ลือจักฮมฮสเจ้าจอมช้อยบ่อควร          เจ้าเอย

มิใช่พงษ์พันธุ์เชื้อ                                          อันประสงค์เสมอภาก                      แพงเอย

เชิญหม่อมเดินดุ่งก้ำ                                    การเจ้าที่มี                                   แน่ถอน

อันนี้      แนวคนแท้วาจาโลมล่าย  อันนี้           คำเก่าเฮื่องประถมเถ้าเล่ามา แท้แล้ว

เมื่อนั้น   ผู้เผ่าท้าวทวยทอดมะโนใส                เฮียมก็จงใจประสงค์ขอดพระไมมาน้อม

คำสลับไว้แนวใกลล้านโยชน์                         พี่ก็ฮักฮ่อสู่แสวงดั้นดุ่งเถิงแลเด

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 70)

 

         ถอดความ: น้องนี้เป็นเผ่าพันธุ์สัตว์ต่ำชั้นมิอาจเทียบเคียงกับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ได้หรอก ขอให้ท่านไปทำกิจของท่านดีกว่า วาจาของคนก็พูดแบบนี้มานานแล้ว  ส่วนสินไซจึงตอบว่า ด้วยจิตใจของพี่นี้ใสสะอาด และมีความจริงใจที่จะเอาหัวใจมามอบให้ คำที่พี่พูดมาล้วนแต่จริงทั้งสิ้น พี่นี้จึงได้ฟันฝ่าอุปสรรค์มาพบกับน้อง

         หลังจากที่สินไซได้เชยชมนางกินรีเรียบร้อยแล้วก็ได้เดินทางต่อจนไปพบกับนางสุมณฑาและได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้นางสุมณฑาได้ฟัง และจะพานางสุมณฑากับเมืองเปงจาล ส่วนนางสุมณฑานั้นตัดเยื่อใยจากยักษ์กุมภัณฑ์ไม่ได้ จึงอ้อนวอนสินไซโดยใช้กลอุบายว่าลืมผ้าสะใบที่ห้องเพื่อกลับมาหายักษ์กุมภัณฑ์และปลุกยักษ์กุมภัณฑ์ให้ตื่น

            กวีได้ใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ สัลลาปังคพิไสย คือ นางสุมนทาเศร้าโศกเสียใจอาดูรเป็นอย่างยิ่งที่จำใจพลัดพรากจากคนที่รัก หากไม่ทำเช่นนี้ก็กลัวสามีอันเป็นที่รักจะถึงแก่ความตายเพราะรู้ดีว่าไม่มีใครต้านทางอาวุธของสินไซได้ ซึ่งรู้ได้จากการฝ่าด่านมาถึงเมืองยักษ์ของสินไซ ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 11 แสดงภาพของสินไซมาพานางสุมณฑาหนีจากยักษ์กุมภัณฑ์

 

เมื่อนั้น   บาจัดอ้อนตาวสุยเสียงฮาบ                อาก็ฟ้าวแต่งเนื้อมีถ้วนเทียวลง

นางก็ทงพระเนตรล้นลาทีทังกะสันคิงแพง เถิงข่องคองคึดได้ทูลหลานแก้วกูณาผายโผด

อาก็ลืมแผ่นผ้าสะใบบ้างค่าควร          ท้าวกล่าวฮ้อนเฮวฮีบทันที

นางก็คืนคุงผัวกอดกุมหิวให้               ลุก ๆ ท่อนเมียจักพากพอยไกลก่อนแล้ว

สังว่ามานอนหลับลื่นคองดูฮ้าย

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 83)

            ถอดความ: นางสุมณฑาอ้อนวอนสินไซทั้งน้ำตาและออกอุบายว่า ลืมผ้าสะใบและให้สินไซพากลับไปเอาสินไซจึงพาอากลับมาเอาผ้าสใบ พอนางกลับคืนมาแล้วก็ได้เห็นยักษ์กุมภัณฑ์หลับอยู่นางจึงพยามปลุกยักษ์กุมภัณฑ์แต่ก็ไม่เป็นผล

            เมื่อยักษ์กุมภัณฑ์ตื่นขึ้นมาไม่เห็นนางสุมณฑาจึงได้ให้กองทัพยักษ์ตามหาและในที่สุดยักษ์กุมภัณฑ์ก็ได้พบนางสุมณฑาอยู่กับสินไซแลจนได้เกิดการต่อสู้กันและยักษ์กุมภัณฑ์ก็ได้พ่ายแพ้ให้กับสินไซ

            กวีได้ใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ สัลลาปังคพิไสย คือ การพลัดพรากจากคนรัก ถึงแม้ว่ายักษ์กุมภัณฑ์ได้ลักพานางสุมณฑามาอยู่เมืองยักษ์ก็ตาม แต่ไม่เคยทำให้นางขัดข้องหมองใจแม้แต่น้อย แสดงให้เห็นถึงสามีภรรยาที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันในที่สุดยักษ์กุมภัณฑ์จึงได้ใจนางสุมณฑาไปครอง แต่บัดนี้ยักษ์กุมภัณฑ์ได้สิ้นลมด้วยอาวุธของหลานชายยิ่งทำให้นางสุมณฑาโศกเศร้าเสียใจเป็นยิ่งนัก  ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

อันว่า     ขอนผีท้าวกุมภันภูวะนาด                  ยังเกือกกิ้งกำก้าวไป่วาง 

คิงก็สนๆ เต้นตาแดงดินขว้าง             ผ้าแผ่เท้าลำล้อมุ่นมา

เถิงที่ผาสารทแก้วโองราชเฮียงนาง       ก็จึงมรณามุดมอดประไทยทันนั้น

ภูมีท้าวเสวยแลงแล้วค่ำ                    นางนั่งให้ขอนช้าซากผัว

น้อยแผ่ผ้าผืนอาจปุนปก                   ฮวานๆ เทียนสองยามเยืองใต้

เมืองผีปิ้งปุนเสียงสงัดอยู่                  มีท่อนางนั่งให้เสียงซ้อยซอกคนิง

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 117)

 

            ถอดความ:  ยักษ์กุมภัณฑ์ได้นอนเกลือกกลิ้งอย่างทุรนทุรายร่างกายยังมีชีวิตอยู่ตาแดงขวาง เสื้อผ้าขาดไม่มีชิ้นดี พอมาถึงปราสาทที่นางสุมณฑาอยู่ยักษ์กุมภัณฑ์ก็สิ้นลมหายใจ สินไซได้กินอาหารเย็นแล้ว แต่นางสุมณฑากลับนั่งร้องให้ข้างสามียักษ์และนำมามาปกคลุมให้จนถึงหก หกทุ่มแล้วนางก็ได้จุดเทียน ทั่วทั้งเมืองผีเงียบสงัดมีแต่เสียงนางสุมณฑานั่งร่ำไห้

 

สรุปและอภิปรายผล

 

            จากการศึกษาสุนทรียรสจากวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสาน วัดสนวนวารีพัฒนารามบางส่วน พบว่า ภาพฮูปแต้มที่มีสุทรียรสที่สอดคล้องตามวรรณกรรมสังข์ศิลป์ไซ มีอยู่ 5 ตอน คือ ตอนวิปลาสะบั้น (ยักษ์กุมภัณฑ์ลักตัวนางสุมนฑา) ตอนประสนธิบั้น (ตอนกำเนิดสังข์สินไซและถูกขับไล่ออกจากเมือง) ตอน โคจรบั้น (ตอนสังข์สินไซและกุมมารทั้งหกตามหาอา) และตอน สินไซมาพานางสุมณฑาหนีจากยักษ์กุมภัณฑ์ ตอนมหายุทธกรรมบั้น (กุมภัณฑ์ถึงแก่ความตาย) และด่านผจญภัย มีอยู่ 5 ด่าน คือ ด่านงูซวง    ด่านยักษ์กันดาน  ด่านพระยาช้างฉัททันต์ ด่านนารีผล…(ต่อสู้กับวิทยาธร) และด่านนางเทพกินรีเกียงคำ  รสทางภาษาที่กวีใช้ในการประพันธ์มากที่สุด คือ สัลลาปังคพิไสย รองลงมาได้แก่ พิโรธวาทัง และน้อยที่สุด คือ นารีปราโมทย์ และเสาวจนี

            ปัจจัยที่ทำให้ตอนของด่านผจญภัยของฮูปแต้มอีสานจากวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏ รสทางภาษา สัลลาปังคพิไสย คือ ตอนที่ต่อสู้ฆ่ากันมากที่สุด อาจเป็นเพราะว่า ด่านเหล่านี้หากปรากฏอยู่ในวรรณกรรมก็มักเป็นตอนที่ทำให้ผู้อ่านจิตนาการเกิดอารมณ์สะเทือนใจ ซึ่งเป็นความกลัวภายในจิตของมนุษย์ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการใช้สำนวนโวหาร และกวีโวหาร เรื่องภาพในจิตของ กุหลาบ  มัลลิกะมาส (ม.ป.ป.) เป็นภาพที่ปรากฏในจินตนาการตามที่เคยประสบผ่านพบมา ภาพในจิตนี้เป็นภาพที่เห็นด้วยใจคิด ด้วยความรู้สึกในทางวรรณคดีถือว่าวิธีสร้างภาพในจิต มีคุณค่าด้านความเข้าใจลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง และสอดคล้องกับแนวคิดของ ไพฑูรย์ พัฒน์ใหญ่ยิ่ง (2541.  อ้างอิงใน  weitz, 1967) ที่ได้กล่าวว่า โศกนาฏกรรม เป็นเรื่องราวในกวีนิพนธ์ที่เกี่ยวกับความทุกข์ เวทนา น่าสงสาร ซึ่งนักปรัชญาตั้งแต่สมัยอาริสโตเติลถึงสมัยปัจจุบันยอมรับเกือบเป็นเอกฉันท์ว่า โศกนาฏกรรมเป็นผลงานด้านศิลปะซึ่งแตกต่างจากศิลปะอื่น ๆ เพราะมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือความโศกเศร้า เป็นการเลียนแบบการกระทำได้สมบูรณ์ที่สุด มีรูปแบบที่แน่นอนมีภาษาปรุงแต่งด้วยสำนวนภาษาอย่างมีศิลปะ

 แต่ถ้าหากตอนที่ต่อสู้กันปรากฏในฮูปแต้มสิมอีสานก็จะทำให้ผู้ที่พบเห็นจิตใจหดหู่ และหวาดกลัว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของพระครูธรรมสารสุมณฑ์  (คำพัน  ญาณวีโร) (2547) ที่ได้ทำวิจัยเรื่องศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมของพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมอีสานเรื่องสังข์ศิลป์ชัย พบว่า วรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยมีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนในสังคมอีสานในเรื่องบุญ-บาป การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ชาวอีสานจึงมีประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ชาวอีสานได้ร่วมกิจกรรมทำบุญกันเป็นประจำทุกเดือนสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและมีคำสอนของคนเฒ่าคนแก่ที่เปรียบเสมือนเป็นกฎกติกาให้ลูกหลานชาวอีสานได้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเคร่งครัด มาจนถึงปัจจุบัน

            ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สุนทรียรสที่ปรากฏในวรรณกรรมสินไซผ่านฮูปแต้มอีสานนั้น รสทางภาษาที่กวีใช้ในการประพันธ์มากที่สุด คือ สัลลาปังคพิไสย ที่แสดงถึงความโศกเศร้าเสียใจต่อการสูญเสียของญาติมิตรและเพื่อนฝูง ในตอนของด่านผจญภัยของสินไซ เป็นที่น่าสังเกตว่าโดยปกติตอนที่แสดงถึงการต่อสู้ไม่ว่าจะปรากฏในวรรณกรรม หรือในละครทีวีมักสร้างความตื่นเต้นและเร้าใจให้กับผู้ติดตามอยู่เสมอ  แต่ในทางตรงกันข้ามตอนต่อสู้ ในวรรณกรรมสินไซกลับกลายเป็นว่าเกิดความหดหู่น่ากลัว หรืออาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าวรรณกรรมสินไซมีหลักธรรมะสอดแทรกอยู่และตัวสิมเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเคารพนับถือ จนกลายเป็นสิ่งควบคุมทางสังคมของคนอีสาน ให้เกิดความตระหนัก สร้างความสามัคคีในชุมชน หลีกเลี่ยงการต่อสู้อันจะนำไปสู่การสูญเสีย ดังที่ปรากฏเห็นจากตอนของด่านผจญภัยจากวรรณกรรมสินไซผ่านฮูปแต้มอีสานของวัดสนวนวารีนี้

 

อ้างอิง

 

กุหลาบ  มัลลิกะมาส.  (ม.ป.ป.).  วรรณคดีวิจารณ์.  กรุงเทพฯ.  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

จารุวรรณ  ธรรมวัตร.  (2552). โนทัศน์ในนิทานสำนวนอีสาน. วิทยานิพนธ์ (ปร.ด. ภาษาไทย): 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

จินดา  ดวงใจ  (ม.ป.ป.).  นิทานสังข์ศิลป์ชัย.  ขอนแก่น: คลังนานาธรรม.

ธวัช  ปุณโณทก.  (2537).  วรรณกรรมภาคอีสาน.  กรุงเทพฯ:  มหาวิทยาลัยราคำแหง.

บุรินทร์ เปล่งดีสกุล.  (2554).  พัฒนาการของจิตรกรรมฝาผนังอีสานกรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น

จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด.  วารสารศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  

            3, 1 ( ม.ค – ม.ค), 84-113.

ไพฑูรย์  พัฒน์ใหญ่ยิ่ง.  (2541).  สุนทรียศาสตร์:  แนวความคิด ทฤษฎีและการพัฒนา.   

กรุงเทพฯ:  เสมาธรรม.

พัฒยา จันดากูล.  (ม.ป.ป.). อีสานhttp://isan.tiewrussia.com/.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11ตุลาคม 2558

พระครูธรรมสารสุมณฑ์  (คำพัน  ญาณวีโร). 2547. ศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมของพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมอีสาน

            เรื่องสังข์ศิลป์ชัย. วิทยานิพนธ์.    พุทธศาสนา:   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์.  (ม.ป.ป.).  สุนทรียรส แห่งวรรณคดี.  กรุงเทพฯ : เฌ.เดียมอง.

รำเพย  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณศิลป์อีสาน.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  เลย: รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.

วิโรฒ ศรีสุโร.  (2541).  สิมอีสาน.  วารสารวิจัย มข.  3, 1 (ม.ค.-มิ.ย.), 92-95.

สุมาลี เอกชนนิยม.  (2548).  ฮูปแต้มในสิมอิสาน.  กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์มติชน.

สุวิทย์  ธีรศาสวัต.  (2557).  ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488.  ขอนแก่น:  คลังนานาวิทยา.

อุดม  บัวศรี.  (2546).  วัฒนธรรมอีสาน.  ขอนแก่น:  คลังนานาวิชา.

อดุลย์  ตะพัง.  (2543).  ภาษาและอักษรอีสาน.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.


1-8 of 8