หลวงพระบางเมืองมรดกโลก: ช้างสัญลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์สู่สินค้าหัตถกรรม
บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
อาณาจักรล้านช้าง
ในตำนานของขุนบรมมีคำว่าช้างปรากฏตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือประมาณปี พ.ศ.2063 และต่อมาก็ได้พบกับคำว่า ล้านช้าง ตามพงศาวดารฉบับต่าง ๆ เช่น ฉบับแรก พบปรากฏอยู่กับศิลาจารึกวัดถ้ำสุวรรณคูหา ประมาณ พ.ศ. 2016 จารึกด้วยอักษรธรรมปรากฏคำว่า ศรีสัตนาคนหุตมหานครราชธานี คำว่า สตะนาคนะหุต แปลว่า ร้อย นาคะแปลว่าช้าง และนะหุตแปลว่า หมื่น เมื่อรวมกันแล้วจะได้คำว่า ช้างล้านตัว หรือล้านช้าง (ปิยฉัตร์ สินธุสะอาด, 2540) อาณาจักรล้าน ในยุคหนึ่งได้แบ่งออกเป็น 3 ราชอาณาจักร คือ 1) อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์2)อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และ3)อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เหตุการณ์แบ่งแยกอาณาจักรในครั้งนี้เกิดจาก อาณาจักรล้านช้างแก่งแย่งอำนาจของเหล่าเชื้อพระวงศ์ จะสังเกตได้ว่าถึงแม้อาณาจักรล้านช้างจะแตกออกเป็น 3 อาณาจักรแล้วก็ตาม แต่ก็ยังใช้คำว่า “อาณาจักรล้านช้าง” ขึ้นต้นเป็นชื่อเรียกก่อนเสมอแสดงให้เห็นว่าช้างมีความสำคัญมากกับคนในอาณาจักรนี้
ช้าง: สัญลักษณ์และความศักดิ์สิทธิ์
ภาพที่ 1 ธงชาติลาว (ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/ธงชาติลาว)
คนลาวนับถือช้างเป็นสัตว์ประจำชาติ เนื่องจากประเทศลาวมีช้างเป็นจำนวนมาก และในอดีตประเทศลาวยังใช้ช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำธงอีกด้วย (เสมา อุปถัมภ์, 2558: เว็บไซต์)
สัญลักษณ์ ธงชาติลาว พ.ศ.2495-2518 สมัยพระราชอาณาจักรมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง มีรูปช้างเอราวัณ 3 เศียรสีขาว ยืนอยู่บนแท่น 5 ชั้น ซึ่งช้างเอราวัณ 3 เศียร หมายถึง เอกภาพของชาติ 3 อาณาจัก รูปพระมหาเศวตฉัตร หมายถึง เขาพระสุเมรุอันเป็นจุดศูนย์กลางจักรวาร พื้นธงสีแดงคือ เลือดของประชาชนลาว และท่ายืนของช้างเอราวัณคือ กฎหมายของชาติ
ความศักดิ์สิทธิ์ ประเทศลาวให้ความสำคัญกับช้างมากโดยเฉพาะช้างเอราวัณ 3 เศียร ซึ่งหมายถึงตัวแทนของพระอินทร์ และเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์ โดยช้างเอราวันเป็นพาหนะของพระอินทร์บนสวรรค์ (วิยะดา ทองมิตร, ม.ป.ป.: เว็บไซต์) และชื่อของช้างเอราวัณ ยังหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง หากรวมกันแล้วอาจแสดงความหมายว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์แล้วโปรยฝนลงมายังโลกมนุษย์ ซึ่งในไตรภูมิพระร่วงได้พรรณนาถึงความใหญ่โตของช้างเอราวัณว่า ช้างเอราวัณเป็นช้างผิวกายเผือก มีขนาดใหญ่เท่ากับภูเขา มี 33 หัว แต่ละหัวมีงา 7 งา รวม 231 งา มีสระบัว 1,617 สระ มีกอบัว 11,319 กอ มีดอกบัว 79,233 ดอก มีกลีบบัว 554,631 กลีบ มีเทพธิดา 3,882,417 องค์ และมีบริวารของเทพธิดาอีก 27,176,919 นาง และมีหน้าที่เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ ไปดูแลทุกข์สุขบนสวรรค์และโลกมนุษย์ รวมทั้งเป็นช้างศึกให้พระอินทร์ออกไปทำการรบกับพวกอสูรอีกด้วย ช้างเอราวัณจึงถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในจักรวาลนี้ เป็นสัญลักษณ์ของพระอินทร์ การทำความดี ความอุดมสมบูรณ์ เป็นต้น รวมถึงเป็นช้างที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดังจะเห็นได้จากงานศิลปกรรมต่าง ๆ ที่นิยมทำรูปช้างเอราวัณควบคู่กับพระอินทร์ (พิทักษ์ โค้ววันชัย, ม.ป.ป.: เว็บไซต์) จนกระทั้งได้นำมาใช้เป็นตราธงของอาณาจักรลาว ปี พ.ศ.2495-2518
หลวงพระบาง: เมืองมรดกโลก
เป็นเวลากว่า 23 ปี ที่ประเทศลาวใช้สัญลักษณ์ช้าง 3 เศียรเป็นธงประจำประเทศจากการพัฒนาของสังคม และวัฒนธรรมของประเทศลาวมาจาก ยุค Indochina, Revolution, New Economic Mechanism, จนกระทั่งเมื่อ ปี พ.ศ. 2541 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก (ลาวเจาะลึกหลวงพระบาง, 2555: เว็บไซต์) ซึ่งทำให้ หลวงพระบางเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลก เกี่ยวกับการอนุรักษ์โบราณสถาน เช่น วัดเก่าแก่ที่สำคัญ พระราชวังเจ้ามหาชีวิต รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเมืองหลวงพระบางเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติไปแล้ว (ภูษนิศา นันตยุ, 2554: เว็บไซต์) ส่งผลให้หลวงพระบางในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวกว่า ห้าแสนคนต่อปี (ประชาชาติธุรกิจ, 2558: เว็บไซต์) ส่วนใหญ่ก็จะมาเที่ยวชมโบราณสถาน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่วิจิตรงดงาม และสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นสินค้าหัตถกรรมด้วย (ปณิตา สระวาสี, 2558: เว็บไซต์)
สินค้าหัตถกรรม: หลวงพระบาง
สินค้าหัตถกรรมของหลวงพระบางส่วนใหญ่เป็นสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ใช้ช่างฝีมือในการประดิษฐ์ และมีความงดงามด้านศิลปะ (หัตถกรรมพื้นบ้าน, 2556: เว็บไซต์) งานหัตถกรรมพื้นบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ชาวหลวงพระบางให้ความสนใจ (ออรินตา ลีเคอร์, ม.ป.ป.: เว็บไซต์) ร้านที่จำหน่ายงานหัตถกรรมที่ ขึ้นชื่อในหลวงพระบางได้แก่ ร้าน ออก พบ ตก ร้าน มาแต่ใส เป็นต้น แหล่งที่พบการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมมากที่สุดในช่วงกลางคืนที่เรียกว่า ตลาดมืดซึ่งเป็นตลาดที่นำสินค้าพื้นเมือง เสื้อผ้า ผ้าไหม ผ้าพันคอ กระเป๋าถือ ของที่ละลึก สินค้าที่ทำจากประชาชนเผ่าต่าง ๆ มาวางขายบนถนนสีสว่างทอดยาวไปจรดถนน สักกะสินในช่วงเย็น ประมาณ 17.00-22.00 น. (หลวงพระบางตลาดมืด, ม.ป.ป.: เว็บไซต์) จากการสังเกตของผู้เขียนพบว่า ร้านขายของที่ละลึกส่วนใหญ่จะขายสินค้าที่มีลักษณะที่เหมือนกัน อาทิ ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าเย็บมือของม้ง (ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ย่าม ผ้ากันเปื้อน รองเท้าแตะ กระเป๋าใส่สตางค์) ลายที่เห็นมากที่สุดก็คือ “ช้าง” จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า “ช้าง” มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีความสำคัญกับคนลาวในอดีตแต่ในปัจจุบันช้างที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของธงลาว ได้ปรากฏอยู่ตามงานหัตถกรรม ได้แก่ ![]() ![]() ![]() ด้วยปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นผู้เขียนจึงได้ทำการสัมภาษณ์คนลาวที่มีหลากหลายอาชีพได้แก่ หลวงปู่แสง กิตติสาโร, นางอัมพร พนาวัน อาชีพค้าขายของชำ, นางลัดดาวัน ชุมพนภักดี อาชีพค้าขายของที่ละลึก, ดร.นิดถาพง สมสนิท ผู้เชี่ยวชาญผ้า และ อาจารย์บัวเคน อนุรักษ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ พื้นเมืองหลวงพระบาง ต่างก็ให้ความเห็นที่สองคล้องกันว่า การที่คนลาวนำช้างมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในงานหัตถกรรมเป็นเรื่องปกติไม่ได้เสียหายแต่อย่างไร และทุกท่านได้กล่าวสอดคล้องกันอีกว่า ช้างเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระอินทร์ และพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลลาวก็จัดให้มีประเพณีแห่ช้างขึ้นที่แขวงไชยะบุรี ซึ่งก็สอดคล้องกับนิตยสารลาว อับเดท ท้ายเดือน มังกอน 2016 ที่ได้ลงข่าวบุญช้างที่แขวงไชยบุรี ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีช้างร่วมแสดง 67 ตัว ซึ่งในอดีตลาวมีช้างมากมายจนเป็นที่มาของ “ลาวล้านช้าง” (อัปเดทวารสาร, 2559) และดร.นิดถาพง สมสนิท ยังได้กล่าวอีกว่า “หากจะนำรูปช้างมาทำงานหัตถกรรมก็ไม่แปลก แต่ต้องนำมาใช้กับสิ่งของที่เหมาะสม เช่น นำมาทำเป็นกระเป๋า โดยเฉพาะช้างสามเศียร เป็นต้น” จากการเปลี่ยนแปลงตามโลกโลกาภิวัตรของลาว โดยเฉพาะหลวงพระบางที่เป็นเมืองมรดกโลก ทำให้วัฒนธรรมได้มีการเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกับ รูปช้างที่ปรากฏอยู่ตามงานหัตถกรรมต่างๆ ที่วางขายภายในลาว เช่นในตลาดมืด เมืองหลวงพระบางซึ่งผู้เขียนมีมุมสะท้อนอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) การที่นำช้างมาเป็นสัญลักษณ์ในงานหัตถกรรม เช่น กระเป๋า หมอน ฯลฯ ถือว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์ในเชิญสัญลักษณ์ให้สอดคล้องกับความเข้าใจของคนลาวที่ว่า “ลาวล้านช้าง” คือ มีช้างจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้ในการท่องเที่ยว 2) การนำช้างที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ศักดิสิทธิ์เช่นช้างสามเศียรมาทำกระเป๋าหรือของใช้ที่เหมาะสมก็ถือว่ายังพอนุโลมและสามารถทำได้เพราะรัฐบาลลาวนั้นได้ส่งเสริมช้างโดยนำมาจัดเป็นประเพณีบุญช้างอยู่ที่แขวงไชยะบุรี แต่ต้องระวังในการนำรูปช้างมาใช้ในที่เหมาะสม ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์อันเป็นตัวแทนทางจิตใจของคนชาติลาว ถึงแม้ว่าวันนี้หลวงพระบางจะเปลี่ยนสถานะเป็นเมืองมรดกโลกแล้วก็ตามแต่ก็ยังคงอัตลักษณ์ไว้โดยเอารูปช้างมาประดิษฐ์เป็นงานหัตถกรรมเพิ่มเศรษฐกิจล่อเลี้ยงชีพของพวกเขา ซึ่งได้ทั้งรายได้และคงความเป็นอัตลักษณ์ด้วย เช่นเดียวกันกับ งานหัตถกรรมสัญลักษณ์รูปช้างลาวที่ปรากฏอยู่ตามตลาดมืดและที่อื่นๆ ในหลวงพระบางและในประเทศลาว
อ้างอิง
ประชาชาติธุรกิจท่องเที่ยว. (2558, 19 ตุลาคม). หลวงพระบาง 2020" ปั้นรายได้ท่องเที่ยว "กลุ่มพรีเมี่ยม. ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, จาก http://www.prachachat.net/news_ ปณิตา สระวาสี. (2558, 22 กันยายน). บันทึกการเดินทาง: หลวงพระบาง ผู้คน ชีวิต และพิพิธภัณฑ์ ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, จาก http://www.sac.or.th/databases/ ปิยฉัตร์ สินธุสะอาด. (2540). สังคมล้านช้างตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 23. วิทยานิพนธ์. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พิทักษ์ โค้ววันชัย. [ม.ป.ป.]. พระอินทร์ ราชาผู้ครองสวรรค์. ค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559, จาก http://www.siamganesh.com/indra.html ภูษนิศา นันตยุ (2554, 22 กันยายน). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว). ค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559, จาก http://www.opsmoac.go.th/ ลาวเจาะลึกหลวงพระบาง. (2555, 11 ธันวาคม). ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, จาก http://2g.pantip.com/cafe/silom/topic/B13050606/B13050606.html วิยะดา ทองมิตร. [ม.ป.ป.]. นิตยสารสารคดี. ค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559, จาก http://travel.kapook.com/view5329.html เสมา อุปถัมภ์. (2558, 10 กันยายน). สัตว์ประจำชาติลาว. ค้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559, จาก http://laos-db.blogspot.com/2015/09/blog-post_9.html หลวงพระบาง ตลาดมืด. [ม.ป.ป.]. ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, จาก http://www.louangprabang.net/content.asp?id=167 หัตถกรรมพื้นบ้าน. (2556, 26 พฤศจิกายน). ค้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2559,จาก http://guru.sanook.com/6988/ออรินตา ลีเคอร์. [ม.ป.ป.]. ความหมายของ " หัตถกรรม". ค้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2559, จาก http://www.orientadecor.com/template/e1 อัปเดทวารสาร, (2559). บุญช้างแขวงไชยะบุรี. วารสาร. หลวงพระบาง
รายนามผู้ให้สัมภาษณ์
นิดถาพง สมสนิท. (21 กุมภาพันธ์ 2559). สัมภาษณ์. ผู้เชี่ยวชาญผ้า. โรงแรมอามาตากะ บัวเคน อนุรักษ์. (21 กุมภาพันธ์ 2559). สัมภาษณ์. อาจารย์. สถาบันวิยาลัยวิจิตรศิลป์ พื้นเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง. ลัดดาวัน ชุมพลภักดี. (22 กุมภาพันธ์ 2559). สัมภาษณ์. แม่ค้าของที่ละลึก. ในวัดอาฮาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง. แสง กิตติสาโร. (22 กุมภาพันธ์ 2559). สัมภาษณ์. เจ้าอาวาส. วัดศรีสวรรค์เทวโลก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง. อัมพร พนาวัน. (22 กุมภาพันธ์ 2559). สัมภาษณ์. แม่ค้าของชำ. หน้าวัดอาฮาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แขวงหลวงพระบาง. |