นางอัปสรา : นาฏยลักษณ์จากภาพศิลาจำหลักประติมากรรมจามโบราณ โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:50โดยไม่ทราบผู้ใช้   [ อัปเดต 6 ก.ค. 2559 20:51 ]

นางอัปสรา :  นาฏยลักษณ์จากภาพศิลาจำหลักประติมากรรมจามโบราณ

 

บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย


 

          อาณาจักรจามปาโบราณตั้งอยู่บริเวณตอนกลางชายฝั่งทะเลของประเทศเวียดนามปัจจุบันในประวัติศาสตร์จามปานับตั้งแต่บทบาทของศิลปวัฒนธรรมอินเดียแพร่เข้ามารวมพุทธศตวรรษที่10-11จามปาต้องทำสงครามกับเขมรทางตะวันตกและเวียดนามทางเหนือตลอดในที่สุดจามปาก็ถูกกลืนโดยชนชาติที่มีวัฒนธรรมแบบจีนและ เวียดนาม จึงทำให้ศิลปะจามปาจึงมีลักษณะคล้ายทางอินเดียและสายจีนมาก ที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือ ประติมากรรมในงานสถาปัตยกรรม อาจกล่าวได้ว่าลักษณะเด่นที่สุดของจามปา คือ ศิลปะด้านประติมากรรม นั่นเอง (สุรสวัสดิ์  ศุขสวัสดิ์,  2543)

          ประติมากรรมของจามนั้นมีอยู่หลากหลายชนิด แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมจาม ที่มีแนวการสร้างที่ไม่มีแม้แต่ในอินเดีย คือ การสร้าง  ศิวลึงค์ศิลาบนฐานโยนีทรงกลม แล้วรองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยม   อีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า เป็นศิลปะแบบจ่าเกี่ยว มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 16 ที่รอบฐานสี่เหลี่ยมทางหนึ่งสลักเป็นภาพนูนต่ำ เป็นนางอัปสรกำลังร่ายรำ (พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามเมืองดานัง,  2551)

 

 ภาพที่ 1 ศิลปะแบบจ่าเกี่ยว

 

         จากภาพที่ 1 จะเห็นได้ว่า นางอัปสรามีความสำคัญมากต่อศิลปะในยุคจามปามาก ซึ่งนางอัปสรามีประวัติเรื่องราวอยู่ว่า นางเกิดมาจากการกวนเกษียรสมุทรตามคัมภีร์วิษณุปุราณะมีนาม อื่น ๆ อันได้แก่  สุรสุนทรี วิทยาธรี สุรางคนาง (เมียเทวดาทั่วไป) สมุทาตมชา(สตรีผู้เต็มไปด้วยความมัวเมาหรือในความเพลิดเพลิน)นางอัปสราเป็นเทพฝ่ายสตรีชั้นล่าง เป็นสตรีที่มีความงดงาม ประดับประดาด้วยเครื่องทรงที่วิจิตร แต่ไม่มีเทวดาหรืออสูรตนรับเป็นคู่ครอง พวกนางจึงทำหน้าที่สร้างความรื่นรมย์บนสวรรค์ขับกล่อมดนตรีและบำเรอกามแก่เทวดาทั้งหลาย นอกจากความงามที่ชายใดได้พบจนคลั่งไคล้แล้วในคัมภีร์อถรรพเวทยังมีมนต์แก้การลุ่มหลงมัวเมาในการพนันอันเกิดจากนางอัปสราอีกด้วย  อาจกล่าวได้ว่านางอัปสราเป็นเทพที่มีความงดงามมาก  แต่กลับมีชื่อเสียงแงลบว่าความลุ่มหลงมัวเมาต่างล้วนเกิดจากมนตราของนางอัปสราทั้งสิ้น(พลอยชมพู  ปุณณวานิชศิริ, 2556) 

         เป็นไปได้หรือไม่ว่าด้วยอัตลักษณ์ท่าร่ายรำของนางอัปสราที่ปรากฏอยู่บนภาพจำหลักของฐานโยนีหรือตามสถาปัตยกรรม อื่น ๆ ในเวียดนามก็ตามทำให้เกิดแนวคิด การเลียนแบบชุดการแสดง ที่เกี่ยวข้องกับนางอัปสราขึ้นเรียกว่าระบำนางอัปสราซึ่ง เครือจิต ศรีบุญนาค และคณะ  (2553)ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผสมผสานทางวัฒนธรรม และได้ศึกษาพบระบำอัปสราในเวียดนามใต้และพบระบำอัปสราจามที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่ผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นงานสร้างสรรค์ที่นำวัฒนธรรมเดิมผ่านระบบคิดสร้างวัฒนธรรมให้มีชีวิต เช่น ระบำอัปสราของกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบสถาปัตยกรรมขอมโบราณที่เชื่อมโยงเข้าสู่ระบบการศึกษา มีการพลิกฟื้นวัฒนธรรมความเชื่อเดิมให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนมีผลต่อด้านเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรม ที่นำภาพศิลาจำหลักนางอัปสราของจามโบราณ มาประดิษฐ์เป็นลักษณะการแสดงเฉพาะ เรียกว่า นาฏยลักษณ์

 

เปรียบเทียบท่ารำจากภาพศิลาจำหลักนางอัปสรา กับท่ารำระบำอัปสรา

 

ภาพที่ 2 ท่ารำ มือซ้ายไปทางขวาของลำตัว มือขวาหักข้อศอก งอเข่าย่อตัวลงของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์

           ประติมากรรมจามนครดานัง  และท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชม

           ปราสาทหินหมี่เซิน   

 

ภาพที่ 3 ท่ารำ เรียงตัวซ้อนกัน ยกแขน งอศอกของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามนครดานัง  และ

           ท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชมปราสาทหินหมี่เซิน   

ภาพที่ 4 ท่ารำงอแขนขวาไปด้านหลัง ยกแขนซ้ายงอศอกไปด้านหน้าของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์
          ประติมากรรมจามนครดานัง  และท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชม
          ปราสาทหินหมี่เซิน   

 

ภาพที่ 5 ท่ารำ งอเข่า งอศอกจีบมือขวา ของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามนครดานัง  

           และท่ารำตัวเอกในระบำนางอัปสราที่เวทีการแสดงของก่อนเข้าชมปราสาทหินหมี่เซิน   

 

            จะเห็นได้ว่าท่ารำ ในระบำนางอัปสราส่วนใหญ่มีการ ประดิษฐ์เป็นลักษณะการแสดงเฉพาะ คือ นาฏนาฏยลักษณ์ โดยลอกเลียนแบบจากภาพศิลาจำหลักของนางอัปสราที่พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจามนครดานัง แล้วนำมาประดิษฐ์เป็นชุดการแสดงระบำนางอัปสรา ที่เวทีการแสดงก่อนถึงปราสาทหินหมี่ ที่เมืองมรดกโลกโฮยอาน ดังปรากฏดังภาพที่ 2 - ภาพที่ 5 และทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงมีทำนองคล้ายบทสวดสรภัญญ์ของไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา คือ จังหวะของเพลงมีระดับปานกลาง ไม่ช้าและเร็วจนเกินไป เช่น “อัปสรา  อัปสรา” และ “มาลา ดวงดอกไม้ ขอตั้งไว้ เพื่อบูชา” ซึ่งได้สอดคล้องกับแนวคิดของ มานะ ชัยวงศ์โรจน์ (2548) ที่เกี่ยวกับการร่ายรำในศาสนา กล่าวว่า พิธีการร่ายรำในศาสนาฮินดูเป็นการบอกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเทพเจ้าผู้ร่ายรำจะแสดงท่ารำต่าง ๆ เรียกว่า มุดราสเพื่อสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง บทเพลงและการร่ายรำหลาย ๆ ศาสนามีคำสอนว่า การแสดงความสักการบูชาที่ดีที่สุด คือ การที่ให้คนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ทั้งทางร่างกาย และจิตวิญญาณ สิ่งนี้จึงนำไปสู่การประพันธ์และบรรเลงเพลง รวมทั้งการร่ายรำต่าง ๆ ทางศาสนา

         และการแสดงระบำอัปสรานี้ก็ได้ปรากฏในการแสดงของเขมรเช่นกัน โดยการแสดงระบำนางอัปสราของเขมร จะมีท่วงท่าและลักษณะการเคลื่อนไหวคล้ายกับการเคลื่อนไหวของนาคมาเป็นท่วงท่าการรำของตัวนางที่มีความอ่อนโยน ทั้งลีลาการใช้แขน มือขา และเท้า เอว สะโพก ลำคอ ใบหน้า สายตา และศีรษะ โดยทุกส่วนของร่างกายกระชับ และกลมกลืนกัน มีการเคลื่อนไหวทั้งท่วงท่าช้า ท่วงท่าเร็ว ให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ของภาษาท่า  (เครือจิต  ศรีบุญนาค และคณะ,  2553) ซึ่งการแสดงระบำนางอัปสราของเวียดนามก็มีท่วงทาลีลาคล้ายกับนาคเลื้อยของเขมรเช่นกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับ กลุ่มละครมะขามป้อม (2548) ที่ได้กล่าวไว้ในเนื้อหาของเอกสารประกอบการแสดงทางวัฒนธรรมครั้งที่ 22 ว่านาคของเขมรน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของอาณาจักรจามปาที่พบในเวียดนาม

 

สรุป

         นางอัสราเป็นเทพฝ่ายสตรีที่มีรูปร่างงดงามมาก ซึ่งคอยปรนนิบัติบำเรอเหล่าเทพเทวดาบนสวรรค์ และมีท่าร่ายรำที่สวยงามปรากฏตามศิลาจำหลักของประติมากรรมจามโบราณจึงเป็นที่มาของระบำนางอัปสราของเวียดนาม ซึ่งเป็นลักษณะของ นาฏยลักษณ์ คือ การประดิษฐ์ท่าตามภาพศิลาจำหลัก จากประติมากรรมจามโบราณซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางไปชมการแสดงของก่อนเข้าชมปราสาทหินหมี่เซินเป็นอย่างมาก การแสดงระบำนางอัปสราที่เวียดนามมีภาพสะท้อนอยู่ 3 ด้านได้แก่ 1) ด้านศาสนา ระบำนางอัปสรามีท่ารำที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเพื่อบูชาเทพเจ้า ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมโดยตรง 2) ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ระบำนางอัปสราได้ชุบชีวิตศิลปะ ให้ออกมาร่ายรำต่อสายตาชาวโลกเป็นการประดิษฐ์คิดสร้างวัฒนธรรมไม่ให้คนหลงลืมได้เป็นอย่างดี และ3) ด้านวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ ระบำนางอัปสราสามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ชาวบ้าน ต่างก็มีรายได้จากการบริการนักท่องทั้งสิ้น

         จากเรื่องราวที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันนางอัปสราได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจริงๆ แล้วใช่ไหมนางกลับมาเพื่อต้องการเล้าโลมจิตใจเหล่ายอดชายในโลกไห้รุ่มหลงอีกครั้งจริงหรือหรือว่านางกลับมาเพื่อจุดประสงค์ใด หลังจากที่นางได้หลับใหลไปจากเมืองมนุษย์กว่าพันปี

 

อ้างอิง 

กลุ่มละครมะขามป้อม.  (2548).  เอกสารประกอบการแสดงทางวัฒนธรรมครั้งที่ 22 . 

          ณ หอประชุมศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เครือจิต  ศรีบุญนาค และคณะ.  (2553).  การผสมผสานทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษาศิลปะการแสดงที่

          พัฒนาจากภาพศิลาจำหลักสถาปัตยกรรมขอมโบราณในประเทศไทยและกัมพูชา. 

          ทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม .

          คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์:  มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร

พลอยชมพู  ปุณณวานิชศิริ.  (2556).  ลวดลายผ้านุ่งนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด

          ที่มาและรูปแบบ.  วิทยานิพนธ์.  สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ  บัณฑิตวิทยาลัย: 

          มหาวิทยาลัยศิลปากร.

พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม เมืองดานัง.  (2551).   

          http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=plin&month=02-03-  
          2008&group=13&gblog=62  สืบค้น
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558

สุรสวัสดิ์  สุขสวัสดิ์.  (2543). เวียดนามสองรส.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์สายธาร.

 


Comments