ภาษาถิ่นอีสาน :อักษรธรรม และอักษรไทยน้อย เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:54โดยไม่ทราบผู้ใช้

ภาษาถิ่นอีสาน :อักษรธรรม และอักษรไทยน้อย

เรียบเรียงโดย บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย 

 

1. อักษรธรรมอีสาน

         อักษรธรรมอีสานพัฒนามาจากอักษรมอญโบราณ นิยมใช้บันทึกเรื่องราวทางศาสนา เช่น พระไตรปิฎก พระธรรมคัมภีร์ต่างๆ เป็นต้น ในประเทศไทยพบที่จารึกวัดสุวรรณคูหา อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดอุดรธานี ประเทศไทย ลงศักราชตรงกับ พ.ศ. 2106  และที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่พบบริเวณเมืองหลวงพระบาง ลงศักราช ตรงกับ จ.ศ.889 หรือ พ.ศ. 2070

ตัวอย่างอักษรธรรม

เรื่อง  นางอั้วผูกคอตายใต้ง่าจวงจัน

 

2. อักษรไทยน้อย

         เป็นอักษรที่ใช้บันทึกเรื่องราวทางโลก เช่น เกี่ยวกับคดีโลกโดยเฉพาะกฎหมาย พงศาวดาร ประวัติศาสตร์ หรือวรรณกรรมนิทานพื้นบ้าน ไม่นิยมเขียนเรื่องเกี่ยวกับคดีธรรม โดยเฉพาะเรื่องที่เขียนด้วยภาษาบาลี เพราะมีตัวอักษรน้อยไม่พอต่อการเขียน แต่นิยมเขียนภาษาถิ่น (ภาษาลาวและภาษาไทยถิ่นอีสาน)

         จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวไว้ว่า“…เมืองเวียงจันทน์ เวียงคำ เมืองชะวาหรือหลวงพระบางเป็นส่วนหนึ่งของของอาณาจักรสุโขทัยและเมืองบริวารอย่างล้านช้าง ซึ่งครอบคลุมถึงภาคอีสานของไทย ก็น่าจะใช้อักษรเหมือนหรือพัฒนาการมาจากอักษรเมืองแม่ นั่นคือ เมืองสุโขทัย และยิ่งในรัชสมัยพระยาลิไทพระองค์ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ นักศาสนา…” (ในหนังสือของ อดุลย์ ตะพัง, 2543)

         ซึ่งจากข้อความข้างต้น อาจารย์ ดร.สุเนตร โพธิสาร ในเอกสารการสอนวันที่ 23 มกราคม 2559 เรื่องประวัติศาสตร์ภาษาลาว-อักษรลาว มีความเห็นต่างว่า “…บริเวณลุ่มน้ำโขงในอดีตยังใช้อักษรขอมและมอนมาบันทึกเรื่องลาวของตนเองอยู่ และไทยสยามยังใช้อักษรเขมรอยู่เมื่อสมัย พ.ศ.1700 รวมถึงในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็ยังใช้อักษรเขมรด้วยเช่นกันเพราะในช่วงนั้นยังไม่มีอักษรไทยสยาม และจากการศึกษาของนักอักขระวิทยาพบว่า อักษรลาวได้พัฒนามาก่อนอักษรไทยสยามพระยาลิไทแห่งสุโขทัย (พ.ศ.1899-1919) ดังเห็นได้จากจารึกที่เขียนด้วยสีที่ฝาถ้ำนางอัน เมืองหลวงพระบาง หรือศิลาจารึกพระธาตุฮาง เมืองท่าแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ปี 1350 พ.ศ.1893 ก่อนอาณาจักรล้านช้าง ที่มีรูปแบบตัวอักษรและอัครวิธีในยุคของพระยาลังธิราช ปี ค.ศ.1271…”

ตัวอย่างอักษรไทยน้อย

เรื่อง พระเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี

(ผิดหลายคำอยู่เด้อครับ ช่วยกันแก้แหน่ครับ)

3. ปัญหาของการสูญเสียภาษา

          1. เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาษา

                                1)  การเปลี่ยนแปลงด้านเสียง

                                     อาจจะเป็นเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การลงน้ำหนัก หรือโครงสร้างของพยางค์  ได้แก่ การสูญเสียง การเพิ่มเสียง การเปลี่ยนเสียง การรวมเสียง และการแยกเสียง

                                2)   การเปลี่ยนแปลงด้านคำศัพท์

                                      คือ การเปลี่ยนแปลงคำ ถ้อยคำ สำนวน การเปลี่ยนแปลงศัพท์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การสูญศัพท์ และการเพิ่มศัพท์

                                3)   การเปลี่ยนแปลงด้านไวยากรณ์

                                       หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของคำ ระเบียบของถ้อยคำ (บุรุษ พจน์ เพศ มาลา กาล)  และการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง

                                4)   การเปลี่ยนแปลงด้านความหมาย

                                      ได้แก่ ความหมายแคบเข้า  ความหมายกว้างออก และความหมายย้ายที่

         2. ปัญหาการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่น

                 วัยรุ่นไทยสมัยนี้นิยมใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คเพื่อการติดต่อที่รวดเร็วและเนื่องจากความเร็วในการสื่อสารและความยากลำบากในการพิมพ์ตัวอักษรทำให้วัยรุ่นทำให้คำเหล่านั้นสั้นลงจนกลายเป็นภาษาวิบัติ

                ตัวอย่าง คำสะกดผิดได้ง่าย เป็นรูปแบบของคำที่มีการสะกดผิด ซึ่งเกิดจากคำที่มีการผันอักษรและเสียงไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์   เช่น  ชะมะ,ชิมิ ที่หมายถึง ใช่ไหม

                ภาษาเหล่านี้เป็นภาษาที่วัยรุ่นทำให้เปลี่ยนแปลงมาเรื่อยจนอาจจะทำให้ไม่มีเค้าโครงเดิมของภาษาไทยอีกต่อไป ฉะนั้นแล้ววัยรุ่นไทยควรช่วยกันถนอมและรักษาภาษาไทยเอาไว้ให้เหมือนอย่างที่มันเป็นมาตลอด

 

4. แนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาถิ่น

 

         1.  แนวทางในการอนุรักษ์ภาษาถิ่น

                1)  ควรนำภาษาท้องถิ่นเข้าสู่ระบบโรงเรียนให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ เพื่อส่งเสริมภาษาถิ่นในด้านการเรียนการสอนโดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษา ท่าทาง สำนวน หรือแม้กระทั่ง วัฒนธรรมท้องถิ่น ก็จะช่วยปลูกฝังให้เด็กสามารถเรียนรู้ รับรู้ การมีอยู่ คุณค่าและความสำคัญของภาษาถิ่น

                2)  ควรการปลูกฝังความความรู้ ความเข้าใจภาษาถิ่นตั้งแต่เด็กโดยการนำภาษาถิ่นไปใช้ในการเรียนการสอน

                3)  ควรการปลูกฝังให้เด็กมีความกล้าที่จะแสดงออก ในการพูดภาษาถิ่น

                4)  ควรมีการส่งเสริม สนับสนุน ภาษาถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย

                5)   ควรมีการรณรงค์ และ ส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นอย่างแพร่หลาย

 

2.             แนวทางในการฟื้นฟูภาษาถิ่น

                1)  ช่วยกันรณรงค์ ส่งเสริมให้ เด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน เห็นว่าภาษาท้องถิ่นมีความสำคัญ และมีคุณค่า เป็นภาษาที่สวยงาม เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและมนุษยชาติ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาเพื่อให้ภาษาถิ่นคงอยู่ต่อไป โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว เพราะเด็กบางคนพูดภาษาถิ่นแต่ในบ้านหรือในครอบครัว แต่พอออกไปนอกบ้านไปอยู่ในสังคมเมือง สังคมใหญ่ๆ ก็จะพูดภาษากลาง จนในที่สุดก็จะลืมและละเลยภาษาถิ่นไป เพราะพูดภาษากลางจนเคยชิน จะหลงเหลือก็แค่สำเนียงเล็กๆน้อยๆ

                 ดังนั้นสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งแรกที่ควรปลูกฝังให้เด็กเห็นว่าภาษาถิ่นมี ความสำคัญอย่างไร และปลูกฝังให้เด็ก ไม่อายกล้าที่จะพูดภาษาถิ่นในสังคม หรือในครอบครัว  ส่วนสถาบันที่สองคือคนในสังคม ที่ไม่ควรทำรังเกียจหรือเห็นว่าคนพูดภาษาถิ่นเป็นสิ่งแปลกประหลาด เราควรยกย่องด้วยซ้ำ เพราะ ภาษาถิ่นมีคุณค่าควรแก่การรักษาไว้

                2) กระทรวงศึกษาธิการควรมีนโยบายอย่างเริ่งด่วนให้มีการบรรจุหลักสูตรภาษาถิ่นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนภายในโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกฝังให้เด็กเล็กๆ ตั้งแต่ อนุบาล ประถม มัธยม จนถึง มหาลัย ซึ่งเมื่อโตแล้ว เด็กสามารถคิดเองเป็นและ สามารถรับรู้ได้ว่า ควรดูแลรักษา ควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อไม่ให้ภาษาถิ่นของเราหายไป อย่างไร้ค่า ไร้ความหมาย

               3) นักวิชาการควรมีการศึกษาวิจัยภาษาถิ่นอย่างจริงจังเพื่อนำมาใช้ในสังคมอย่างเร่งด่วน เพราะภาษาถิ่นเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาภาษาถิ่นจะช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนได้ทางหนึ่ง ภูมิปัญญาของชาวบ้านด้านต่างๆ เช่น เพลงกล่อมเด็ก นิทาน ปริศนาคำทาย ชื่อบุคคล ชื่อพืชและชื่อสัตว์ ชื่อสิ่งของเครื่องใช้ ชื่ออาหารเครื่องดื่ม บทสวดในพิธีกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่นต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ภาษาเป็นเครื่องมือสื่อสารถ่ายทอดทั้งสิ้น

 

5.  สรุป ภาษาถิ่นอีสาน

 

                จากการที่ผู้เรียบเรียงได้ศึกษาภาษาถิ่นอีสานทั้งประวัติความเป็นมา และอักษรที่เป็นต้นตอของอีสาน ก็ยิ่งทำให้ทราบว่าอักษรถิ่นอีสานกำลังเริ่มมีการฟื้นฟูด้วยระบบของรัฐบาล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า อักษรถิ่นอีสานเป็นภูมิปัญญาดั่งเดิมของคนอีสาน ได้แก่ อักษรไทยน้อย และอักษรธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2555 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีพิธีประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2555 จำนวน 5 รายการด้วยกัน คือ 1) อักษรธรรมล้านนา 2) อักษรไทยน้อย 3) อักษรธรรมอีสาน 4) ภาษาชอง 5) ภาษาญัฮกุร และ 6) ภาษาก๋อง ซึ่งในรายการขึ้นทะเบียนมรดกดังกล่าวได้มี อักษรอีสานได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเรียบร้อยด้วยเช่นกัน คือ อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมอีสาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ ก็เพราะว่า ภาษาและอักษรเป็นมดรกทางภูมิปัญญาของชุมชน เสี่ยงต่อการสูญหาย หรือเผชิญกับภัยคุกคาม เป็นต้น

                ถึงแม้ว่าอักษรอีสานได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาแล้วก็ตาม ถ้าหากยังไม่นำมาปฏิบัติใช้กันให้แพร่หลาย ประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คงอาจจะไม่เต็มที่ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรเพิ่มบทบาทด้านอักษรประจำท้องถิ่นอีสาน คือ อักษรไทยน้อย และอักษรธรรมอีสาน ให้ยอมรับกันได้แบบสากล เช่น มีการบรรจุลงในหนังสือเรียนของนักเรียนชั้นประถม มัธยม ให้เป็นวิชาบังคับเรียน เพียงเท่านี้ภาไทยน้อย และภาษาธรรมอีสาน ก็จะยังคงอยู่และยั่งยืนสืบไป

 

อ้างอิง

ธวัช  ปุณโณทก.  (2537).  วรรณกรรมภาคอีสาน. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

_________.  (2531).  ภาษาถิ่นของไทย. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ป๋วย  อึ้งภากรณ์.  (2514).  ภาษาศาสตร์. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช.

สวัสดิ์ วงศ์วิเศษ(2518).  ตำราเรียนอักษรโบราณกรุงเทพฯ : วงษ์สว่าง.

อดุลย์ ตะพัง.  (2543).  ภาษาและอักษรอีสาน. กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

เพ็ญพักตร์ ลิ้มสัมพันธ์. (2527).  อักษรธรรมอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

มนัส สุขสาย. (2543).  ตำราเรียนอักษรโบราณอีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กาฬสินธุ์ : มูนมังไทยอีสาน.

 


Comments