สุนทรียรสในวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสาน โดยบุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:48โดยไม่ทราบผู้ใช้

สุนทรียรสในวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสาน 

บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย


 บทนำ

 

         ภาคอีสานประกอบด้วย 20 จังหวัด มีเนื้อที่ทั้งหมด 170,218 ตารางกิโลเมตร 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย ภูมิประเทศของอีสานแบ่งเป็น 2 แห่ง คือ แอ่งสกลนคร และแอ่งโคราช มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำชี  แม่น้ำมูล อาชีพหลัก  คือ เกษตรกรรม (สุวิทย์  ธีรศาสวัต,  2557) ในด้านวัฒนธรรมของภาคอีสานนั้น ชาวอีสานจะมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง คือ มีภาษาพูด และภาษาเขียน (ตัวอักษรไทยน้อย และอักษรธรรม) เป็นของตนเอง (สำลี รักสุทธี,  2553) รวมถึงมีวรรณกรรมเป็นของตนเอง  อีกด้วย ซึ่งคนอีสานนิยมแต่งเรื่องราววรรณกรรมให้ผูกโยงเรื่องราวไปสู่พระพุทธศาสนา (อุดม  บัวศรี,  2546)  ซึ่งก็สัมพันธ์กันกับ อดุลย์ ตะพัง (2543) ในหนังสือภาษาและอักษรอีสานกล่าวว่า ภาคอีสานเคยเป็นดินแดนพุทธศาสนามาก่อน อักษรที่ใช้ก่อนพุทธศักราชที่ 16 เป็นอักษรปัลลวะ ปรากฏที่จังหวัดนครราชสีมา ใน พ.ศ. 1411 ซึ่งคนไทยมีความเชื่อดั่งเดิมอยู่แล้ว คือ การนับถือผี และพระโพธิสัตว์ ดังได้ปรากฏตามวรรณกรรมเป็นส่วนใหญ่ และเรื่องราวที่มีส่วนปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ คือ พระมาลัย พระเวสสันดรชาดก เรื่องนรก สวรรค์ เป็นต้น (จารุวรรณ  ธรรมวัตร,  2552) และวรรณกรรมส่วนใหญ่ของอีสานนี้มักจาน (เขียน) ไว้ในใบลาน เรียกว่า หนังสือผูก เก็บไว้ที่หอไตรในวัด ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา อาจนำมาเทศน์ หรือนำมาอ่านในงานงันเฮือนดี (งานศพ)  เช่น เรื่องการะเกษ สังข์ศิลป์ไชย สุริยวงศ์ เป็นต้น (รำเพย  ไชยสินธุ์,   2553)

         จากวรรณกรรมที่ปรากฏในหนังสือผูกดังกล่าว หากย้อนกลับไปเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 จะพบว่า ศิลปวัฒนธรรมกลุ่มไทย-ลาว หรือศิลปะล้านช้าง ของกลุ่มคนที่อพยพย้ายถิ่นมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาในอาณาจักรสยาม ได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมเดิมของตน โดยไม่ได้ทิ้งไปแม้แต่น้อย ดังที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คือ พระอุโบสถ หรือ สิม (วิโรฒ  ศรีสุโร,  2541) โดยมีการวาดรูปแต้มไว้ที่ผนังสิมเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้สิม โดยจะวาดทั้งด้านในและด้านนอกสิม เพื่อให้ชาวบ้านที่มาทำบุญได้ชม เรื่องที่วาดส่วนใหญ่ก็จะเป็นพุทธประวัติพระเจ้า 10 ชาติ และสังข์ศิลป์ชัย เป็นต้น (พัฒยา จันดากูล,   ม.ป.ป. :  เว็บไซต์) 

         วรรณกรรมสินไซเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ โดยเล่าสืบทอดจากรุ่นต่อรุ่น นิทานสินไซได้รับการปรับเปลี่ยนเป็นศิลปะบันเทิง หลายรูปแบบ เช่น หมอลำ หนังประโมทัย รวมไปถึงฮูปแต้ม เป็นต้น เรื่องราวของฮูปแต้มสินไซบนผนังสิม ไม่ได้มีครบทุกตอนผู้ดูสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวจินตนาการด้วยตนเองได้ เพราะช่างแต้มจะเลือกเอาเฉพาะฉากที่คนดูแล้วตื่นเต้นประทับใจจึงทำให้ฉากของสินไซในหลาย ๆ วัด มักจะซ้ำกัน โดยเฉพาะฉากการต่อสู้ผจญภัยของสินไซ (สุมาลี เอกชนนิยม, 2548) และช่างแต้มในลักษณะประเพณีอีสาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน จึงมีความรู้ในด้านเนื้อหาเรื่องราวจากการศึกษาพระธรรมค่อนข้างดี (บุรินทร์ เปล่งดีสกุล,  2554) รวมไปถึงวรรณกรรมนิทานพื้นบ้านด้วย

 

 ภาพประกอบที่ 1 แสดงภาพของหอยสังข์แปลงกายเป็นเรือสำเภาให้สินไซนั่งข้ามมหาสมุทร

 

            ในปัจจุบันวรรณกรรมสินไซ เป็นวรรณกรรมลายลักษณ์ที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว กวีประพันธ์วรรณกรรมขึ้นด้วยแรงศรัทธา   ต่อพุทธศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เช่น

 

เมื่อนั้นปรางค์คำคลุ้มคนิงธรรมทรงมาก                      เห็นรุ่งญาณยอดแก้วเที่ยวใช้ชาติพระองค์

บัดนี้ข้าจักปุนแต่งตั้งไชชาตก์แปลธรรมก่อนแล้ว               เป็นที่ยูแยงเถิงพร่ำเพ็งภายซ้อย

(ธวัช  ปุณโณทก,  2537 , อ้างอิงใน เรื่องสินไช)

          ถอดความ: กวีได้ ศรัทธา ในธรรม รำลึกเห็นพระโพธิญาณที่กลับมาใช้ชาติ และผู้ประพันธ์ของกล่าวอธิบายพระธรรมเพื่อให้เห็นธรรมในภายหน้า

          วรรณกรรมนิทานเรื่องนี้ได้แพร่หลายมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ในภาคอีสาน เพราะว่ามีเรื่องราวตื่นเต้น ผจญภัยดี มีสำนวนไพเราะ เป็นแบบอย่างของการประพันธ์โคลงสาร (กลอนลำ) (ธวัช  ปุณโณทก,  2537) ในการเลือกสรรเอาฉัทลักษณ์หรือแบบรูปการประพันธ์มาใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาสาระของเรื่องนั้น นักปราชญ์ด้านวรรณศิลป์ได้วางกฎเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ลีลาของคำ หรือเรียกว่า “สุนทรียรส” ซึ่งหมายถึง  กระบวนการพรรณนาที่เหมาะสม  ได้แก่ ความงามในด้านกระบวนการพรรณนา  หรือความงดงามในด้านอารมณ์สะเทือนใจ  อันเกิดจากกระบวนการพรรณนา  โดยมีกลวิธีในการประพันธ์อยู่ 4 แบบ และตั้งชื่อเรียกลีลาให้คล้องจองกันว่า   1) เสาวรสจนี คือรสแห่งความงาม รสแห่งการชมโฉม โดยปรกติใช้ชมความงามหรือโฉมของตัวละครในวรรณคดี แต่สามารถใช้รวมความถึงการชมความงามของสิ่งอื่น ๆ เช่น ภูมิทัศน์ สถานที่ และวัตถุ เป็นต้น 2) นารีปราโมทย์ คือรสแห่งความรักใคร่ เกี้ยวพาราสี  โดยปกติเป็นบทโอ้โลมปฏิโลมระหว่างตัวละครในวรรณคดี ตอนที่ฝากรักใคร่ต่อกัน 3) พิโรธวาทัง คือรสแห่งความเกลียดโกรธ ตัดพ้อต่อว่า แค้นเคียด เสียดสี และ 4) สัลลาปังคพิไสย คือรสเศร้าโศก คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ เป็นต้น (รื่นฤทัย สัจจพันธุ์.  ม.ป.ป.)

 

ผลการศึกษาสุนทรียรสที่ปรากฏในวรรณกรรมสินไซผ่านฮูปแต้ม

 

         จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล วัดสนวนวารีพัฒนาราม หมู่ที่ 1 บ้านหัวหนอง ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น พบว่า ผนังด้านนอกสิมมีฮูปแต้มที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมพื้นบ้าน คือ เรื่องสินไซ ซึ่งฮูปแต้มที่ปรากฏอยู่ผนังสิมนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ และเมื่อผู้วิจัยได้นำวรรณกรรมสินไซที่ปริวรรตโดย จินดา ดวงใจ (ม.ป.ป.) มาเพื่อวิเคราะห์สุนทรียรสแล้วปรากฏว่า ก็ครบถ้วนทั้ง      4 แบบ คือ เสาวรจนี นารีปราโมทย์ พิโรธวาทัง และสัลลาปังคพิไสย ซึ่งการเลือกฮูปแต้มมาใช้ในการวิเคราะห์ในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เลือกเอามาเพียงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เท่านั้น ซึ่งอาจมีบางตอนที่ไม่ได้ปรากฏในบทความนี้

            เริ่มต้นด้วยตอนยักกุมภัณฑ์ลักพาตัวนางสุมณฑา (วิปะลาสะบั้น) ยักษ์กุมภัณฑ์ได้ใช้ คาถาอาคมปราบผีที่คอยปกปักเมืองเปงจาลให้หวาดกลัว และร่ายมนต์สะกดจนนางสุมณฑาสลบแล้วจึงอุ้มนางสุมณฑาเหาะเหินขึ้นบนฟ้าจากไป ทำให้ชาวเมืองทั้งเสนา อำมาตร นางสนม ตกใจกลัววิ่งกันอย่างกลลาหน ร่ำไห้ ฟูมฟายกันทั่วพระราชอุทยานแห่งเมืองเปงจาล

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ คือ สัลลาปังคพิไสย แสดงถึงอาการหวาดกลัว คำว่ากลัวในที่นี้มีอยู่ 2  ประเด็น คือ 1) ตกใจกลัวยักษ์กุมภัณฑ์จะเอานางสุมณฑาไปฆ่ารวมทั้งกลัวตนจะถูกยักษ์ฆ่าด้วย 2) กลัวพระยากุศราชจะลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตเพราะไม่ดูแลนางสุมณฑาให้ดีปล่อยให้ยักษ์กุมภัณฑ์จับตัวนางสุมณฑาไป ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

ภาพประกอบที่ 2 แสดงภาพของยักษ์กุมภัณฑ์อุ้มพานางสุมณฑาไปจากอุทยานเมืองเปงจาล

 

เทื่อนี้     กูแอ่วได้โดยประโยชน์อันคนิงแลเด      มันก็ฮวยอาคมผาบผีชุมเชื้อ

เมื่อนั้น   ผีเมืองย้านยักโขขามเดช                   ละแก่นแก้วกลางห้องพ่ายพัง

นางคะมะให้ดิ้นดั่นทวงสลบ                          พระกาโยเหลืองหล่าตนตายกระด้าง

มันคอยตุ้มตะโนมนาดเฮียงฮส                       คาแคงควรระวังองค์แก้ว

ฟังยินทมๆ ฮ้องเสียงคนคุงเมฆ                       มะโนนาดคุ้มคือบ้าทั่วทะลัง

หื่นหื่นพร้อมเสเนตนางขุน                             ตีทวงทบท่าวแด่ดอมน้อย

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 9)

 

         ถอดความ: ยักษ์กุมภัณฑ์ได้มาในครั้งนี้ด้วยได้ประโยชน์อันมากโข และได้ร่ายคาถาอาคมกำหลาบผีบ้าน ผีเมือง เมื่อผีเมืองเกรงกลัวในอำนาจของยักษ์กุมภัณฑ์แล้ว จึงได้หนีจากห้องหอปราสาทราชวังไปและนางสุมณฑาได้ตกใจจนเป็นลมสลบลง ร่างกายได้สูปเหลือง ยักษ์กุมภัณฑ์จึงอุ้มเอานางสุมณฑาอย่างระมัดระวังทันใดนั้นเอง ก็เกิดความโกลาหนในหมู่บ่าวไพร่ ขุนนางน้อยใหญ่พากันร้องไห้โหดังกับคนที่คุ้มคลั่ง และอยากได้นางสุมณฑากลับคืนมา

            หลังจากพระยากุศราชสูญเสียน้องสาวให้ยักษ์ไปวันนั้นก็ได้ออกบวชเพื่อหวังให้ผลบุญส่งตนได้พบกับนางสุมณฑา จนไปพบกับลูกของเศรษฐี ทั้งเจ็ดนาง พระยากุศราชจึงขอนางทั้งเจ็ดจากเศรษฐีมาเป็นพระฉายา และได้พานางทั้งเจ็ดกลับมาที่เมืองเปงจาล กาลเวลาได้ล่วงเลยผ่านไป พระยากุศราชคิดถึงนางสุมณฑาจึงได้บอกกับมเหสีทั้งแปดคนว่า ใครมีบุตรให้แก่พระองค์ได้ พระองค์จะยกแก้วแหวนเงินทองให้ทั้งหมด และบุตรที่เกิดมานั้นต้องมีบุญญาธิการสามารถไปตามหานางสุมณฑาได้ 

            และแล้วนางลุนและนางจันทาก็ได้ตั้งครรภ์ (ปฏิสนธิบั้น)พี่น้องทั้ง หกคนกลุ้มในดวงจิต เป็นอย่างยิ่งที่นางลุนน้องคนที่เจ็ดของตน และนางจันทาซึ่งเป็นพระมเหสีเอกของพระยากุศราชนั้นทรงตั้งครรภ์ จึงทำให้นางทั้งหกคนกระทำทุกวิถีทางด้วยกระบวนการบนบานต่อแถนเทวดาก็ยังไม่ตั้งครรภ์และพระยากุศราชก็ตั้งเงื่อนไขไว้ว่าหากภรรยาคนใดมีบุตรให้ตนได้ ตนจะยกราชสมบัติให้ครอบครอง นางทั้งหกจึงเกิดความบ้า คือ อิจฉาริษยาแม้กระทั่งน้องสาวของตนเองที่ตั้งครรภ์ จึงได้วางแผนการใส่ร้าย นางลุนและนางจันทาจนได้ออกจากเมืองเปงจาลไป

            รสทางภาษาที่กวีเลือกใช้ในการประพันธ์ คือ พิโรธวาทัง กวีได้แสดงให้เห็นถึงการแก่งแย่งชิงดี ความโลภในหมู่ญาติพี่น้อง สะท้อนถึงความไม่เพียงพอในกิเลสของมวลมนุษย์ ทำร้ายได้กระทั่งพี่น้องสายเลือดเดียวกัน  ตัวอย่างคำกลอน เช่น

  

ภาพประกอบที่ 3 แสดงภาพมเหสีทั้งหกนางอยู่ในเมืองเปงจาลหลังจากที่นางลุนและนางจันทาถูกเนรเทศ

 

เมื่อนั้น   หกพี่น้องเนาฮ้ายฮำคาน      

บัดนี้      พายเพื่อนเจ้าเฮาฮ่างพอยหมอง แลนอ             กรรมใดเบียนบาบเองอายหน้า

แหนงสู้เคียนคอขึ้นโตนตาย                                       แล้วชาติจักอยู่ได้เป็นน้อยเพื่อนหยัน แลเดอ

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 34)

 

         ถอดความ: ทั้งหกพี่น้องอาศัยอยู่ในวังด้วยความรำคาญใจ พวกพี่น้องที่อยู่ร่วมกันนี้ไม่มีลูกสักคน หรือเป็นเพราะเวรกรรมที่มาบดบัง ช่างแสนอับอายยิ่งนัก อยากผูกคอตายให้รูแล้วรู้รอดไปสักที หากชาตินี้ไม่มีลูกให้กับพระยากุศราชต้องถูกพี่น้องเย้ยหยันแน่นอน

            หลังจากที่นางทั้งหกได้วางแผนขับไล่นางลุนและนางจันทาออกจากเมืองเปงจาลสำเร็จแล้ว ต่อมาไม่นานทั้งหกคน ก็ได้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกชาย (โอรส)หกคน ทั้งหกกุมารได้เติมใหญ่พระยากุศราชได้ให้ไปตามหานางสุมณฑา ตามความประสงค์ที่ตั้งไว้ทันที ทั้งหกกุมารได้เดินทางไปพบกับสินไซ และได้เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งหมดให้กับสินไซฟัง สินไซจึงพาทั้งหกกุมาร ไปพบ นางลุนและนางจันทา ซึ่งเป็นป้าของทั้งหกกุมาร

         กวีแสดงให้ถึงสายสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ สะท้อนถึงคุณความดีของสินไซที่มีต่อพี่น้องไม่คิดอาฆาตพยาบาททั้งที่รู้ว่า มารดาของตนมาอยู่ในป่าเพราะอะไร กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ เสาวรจนีคือ กุมารทั้งหกได้เห็นปราสาทของสินไซก็ตกตลึง เห็นถึงความงามเปรียบดังเห็นวิมารบนสรวงสวรรค์ชั้นฟ้าดาวดึงส์ ทำให้เกิดความเลื่อมใสสัทธาถึงความมหัศจรรย์ตามที่เห็นในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างคำกลอน เช่น

  

ภาพประกอบที่ 4 แสดงภาพของสินไซพากุมารทั้งหกมาหานางลุนและนางจันทาที่ปราสาทของตน

 

เมื่อนั้น  หกส่ำท้าวทะแนวแนบเฮียนความ         ฝูงข้าเนาเปงจาลจากมาหลายมื้อ

เมื่อนั้น  บาฮามฮู้เชิญเถิงสถานมาศ                 เขาก็ตามบาทเจ้าจอมสร้อยสู่ปรางค์

สะพรั่งพร้อมยำราชกุมาร                 เลงดูปรางค์เปรียบดาวะดึงฟ้า

เขาก็เฮียงมือน้อมสลอนแถวถ่านต่ำ      สองแม่ป้าปุนเยี่ยมล่ำเลง

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 46)

            ถอดความ: กุมารทั้งหก ได้เล่าเรื่องราวให้สินไซฟังว่าพวกตนมาจากเมืองเปงจาลและเดินทางมาหลายวันแล้ว สินไซได้ฟังทั้งหกกุมารเล่าทั้งหมดก็ทราบเรื่องและรู้แจ้งว่าทั้งหกกุมมารคือญาติของตน จึงได้พาทั้งหกกุมารไปที่ปราสาทที่ตนอาศัยอยู่ เมื่อทั้งหกกุมารเดินทางมาถึงปราสาทก็ต้องตกตะลึงถึงสิ่งที่เห็น คือความงามของปราสาทที่ปรากฏอยู่กลางป่า และทั้ง หกกุมารก็ได้กราบอาทั้งสองคือ นางลุนและนางจันทา

             ทั้งหกกุมารได้เล่าเรื่องราวให้ป้าทั้งสองฟังแล้วขออนุญาตให้สังข์สินไซไปตามหาอาด้วย ป้าทั้งสองก็อนุญาต และแล้วทั้งหกคนก็ออกเดินทางไปตามหานางสุมณฑา ที่ถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักพาตัวไป สินไซและกุมารทั้งหกก็ได้เดินทางมาถึงด่านของงูซวง และสินไซต่อสู้กับพยางูซวง ด้วยอาวุธที่ทรงอนุภาพ คือ ธนูยิงงูซวงและใช้ดาบฟันงูซวงขาดเป็นท่อนเป็นการต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างคนกับงูยักษ์

            กวีแสดงให้เห็นถึงสงครามกับผู้ที่มีอิทธิพล แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมอ้อนข้อของผู้ที่มีอำนาจถึงแม้ว่าผู้ที่รักความสันติสุขจะอ้อนวอนไกล่เกลี่ยขอร้องแล้วก็ตามก็ไม่อาจเป็นผล การที่งูซวงไม่ยอมให้สินไซผ่านด่านอาจเป็นเพราะว่า 1) กลัวเสียศักดิ์ศรีของพระยางูยักษ์ที่ลั่นวาจาไว้แล้วว่าไม่ให้ผู้ใดที่ล่วงล้ำในเขตแห่งตนผ่านไปได้ 2) ทำตามคำสั่งของนายซึ่งก็ขัดขืนไม่ได้ จึงทำให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ คือ สัลลาปังคพิไสย แสดงถึงภาพโศกนาฏกรรมความสูญเสียล้มตายอย่างน่าเวทนาของงูซวงที่ถูกสินไซ ฆ่าตายจนเหลือแต่ซาก ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 5 แสดงภาพของสินไซต่อสู้กับงูซวง

 

เลือดหลั่งล้นศรเสียบแสนที                        เมื่อนั้น สีโหเห็นเหตุบาแฮงน้อย

ทะยานแทงใค้กลางตัวตัดขาด                        ม้างท่อนท้ายหางหั้นมุ่นมิน

ยังไป่ดับมอดเมี้ยนก้ำฝ่ายทางหัว                     ภูธรหลบหลีกไวเวียนฆ่า

ลายตกฮ้อนเป็นไฟทุกที                                ภูวนาดน้าวศรแกว่งยิงปืน

เล่าตัดขาดข้อนฟันแหล่งหัวทะลาย                  ซวงตายเต็มหว่างดอยดูฮ้าย

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 53)

 

            ถอดความ:  สินไซใช้ศรยิ่งเสียบงูซวงนับแสนครั้ง จนเลือดงูซวงไหลนองเต็มพื้น และสีโหเห็นเช่นนั้นแล้วจึงใช้ดาบฟันงูซวงจนขาดเป็นท่อน แต่ก็ยังไม่สิ้นฤทธิ์เพราะหากจะฆ่างูซวงให้ตายได้ก็ต้องตัดที่หัว ส่วนร่างของงูซวงที่ขาดเป็นท่อนกล่ายเป็นไฟทั่วพื้นปฎพี สินไซใช้ศรยิ่งที่หัวงูซวงจึงตายเกลื่อนที่หุบเขาอย่างอนาคต

            หลังจากที่งูซวงได้ตายหมดสิ้นแล้ว สินไซและกุมมารทั้งหก ก็ได้เดินดงตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อติดตามหาอา และในระหว่างทางนั้นสินไซก็ได้เห็นภูผาตั้งตระหง่านตา ต้นไม้น้อยใหญ่เรียงรายกัน ออกลูกผลเต็มต้นรวมทั้งมีสัตว์ป่ามากมาย

กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์  เสาวรจนี คือ บรรยายภาพธรรมชาติที่งดงามที่อุดมไปด้วยต้นไม้และสัตว์ป่า ที่เนื่องแน่นอย่างน่าอัศจรรย์ ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 6 แสดงภาพของสินไซและสังข์ทองเดินดง

 

เมื่อนั้น   อระมัยหน้าน้อยนาดนงไว                 ลีลาเสด็จด่วนตามตนน้อง

เหลิงดูสองตาบตั้งผาภาคเพียงพระโยม             พุ่นเยอ  ชะนีนงครานค่อนเสียงสูญถ้ำ       

ไสวต้นจันแดงเดียระดาษ                           ทรงลูกล้นหอมเฮ้าฮ่มผา

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 55)

 

            ถอดความ: สินไซได้เดินตามหอยสังข์ และทั้งสองข้างทางมีแต่ภูผาตั้งตระหง่านตาเสียงชะนีร้องดั่งก้องไปถึงในถ้ำที่ไร้ร่องรอยคน ต้นจันสีแดงยืนต้นเรียงรายออกผลมากมายกลิ่นหอมทั่วหน้าผา

            ทั้งแปดคนได้เดินทางมาถึงด่านยักษ์กันดารและได้สู้รบกันจนสะเทือนไปทั่วแผ่นดิน การจะสู้กับยักษ์ให้ชนะได้นั้นเห็นทีจะลำบากเหลือเกิน พระยักษ์มีฤทธิ์เดชมาก แต่ก็มิอาจต้านทานอาวุธของสินไซได้

            กวีได้สะท้อนให้เห็นถึง การใช้อำนาจในการที่มิชอบมิควร รังแกผู้ที่ด้อยกว่า โดยลืมนึกไปถึงกงกรรมกงเกวียน ที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง ผลสุดท้ายคนเหล่านี้ก็จะเสื่อมอำนาจลงและชีวิตก็จะล้มเหลวลงในที่สุด กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ พิโรธวาทัง คือ ความโกรธแค้นสินไซที่เข้ามาในเขตแดนของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ สัลลาปังคพิไสย คือ สินไซได้ฆ่ายักษ์ล้มตายเลือดนองไหลทั่วพื้นพิภพ เกิดความสูญเสียเศร้าสลดเสียใจแก่เผ่าพันธุ์วงศาของยักษ์ในครั้งนี้  ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 7 แสดงภาพของสินไซต่อสู้กับยักษ์ซึ่งเป็นบริวารของยักษ์กุมภัณฑ์

 

            เมื่อนั้น  กันดารต้านคำแขงขีนขนาด    วรุณยักษ์ผู้ลือล่ำแม่นกูนี้แล้ว 

ในเขตด้าวดงด่านพระคีรี                  ตัวใดเดินมาพบขาดชีวังมีมั่ว…..

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 56)

พระบาทท้าวมีอาจกลัวเกรงสะน่อยนั้น ภูธรถอนแม่ธะนุปูนเปื้อง

หลังหักค้นครางตายฮ้องฮ่วน             มันเล่ายังพ้นฟ้งไฟไหม้ลวกลอน

เลือดหลั่งป้านเป็นป่ามไฟแดง            ภูธรทรงคันไชยป่ายคอสเด็นกลิ้ง

เลยเล่าดันขันธเมี้ยนเสียชีวังมรณาต     คิงท่อด้าวดอยน้อยคอบคาว

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 56-57)

 

         ถอดความ:  ยักษ์กันดานไม่ฟังคำสินไซ กล่าวใดๆ ทั้งสิ้นยักษ์ที่มีอำนาจมากที่สุดคือยักษ์กันดานตนเดียว แม้ว่าใครเดินผ่านเข้ามาในเขตแดนนี้จะต้องตายทันที

         หลังจากที่ยักษ์กันดานไม่ยอมให้สินไซผ่านทางจึงเกิดการต่อสู้กันขึ้น ซึ่งสินไซมิได้กลัวฤทธิ์ของยักษ์กันดานอยู่แล้ว สินไซจึงได้ยิงธนูใส่ยักษ์ ทำให้ยักษ์กันดานเลือดไหลนองเป็นไฟสีแดง สินไซใช้ศรยิงที่หัวยักษ์ขาดกระเด็น และใช้ดาบฟังยักษ์จนตายสิ้น ร่างของยักษ์นั้นใหญ่มากจนเท่ากับภูเขา

         หลังจากที่สินไซได้ชัยชนะจากยักษ์แล้วจึงได้เดินทางต่อจนถึงด่านพระยาช้างฉัททันต์ สินไซได้รุกล้ำเข้าไปในเขตของพญาช้างพรายสาร ทำให้พญาช้างโกรธกริ้วเป็นอย่างมาก และกำลังจะเกิดสงครามระหว่างช้างกับมนุษย์ สินไซจึงใช้ธนูยิ่งขึ้นไปบนฟ้า ทำให้เกิดฟ้าผ่าสะเทือนทั่วเวหา ทำให้บริวารช้างตื่นหวาดกลัวเป็นยิ่งนัก

         กวีได้เขียนพรรณนาถึงความกลัวตายของช้างป่าจนร้องไห้กันระงม พญาช้างพรายสารจึงขอให้สินไซยกโทษให้ตน พร้อมกับเหล่าบริวารด้วยความมีเมตาของสินไซ จึงอภัยให้

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ พิโรธวาทัง คือ พยาช้างพรายสารมีความโกรธกริ้วที่สินไซรุกล้ำเข้าไปในดินแดนของตนและสัลลาปังคพิไสย ที่เหล่าช้างมีความหวาดกลัวร่ำไห้กลัวตาย ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 ภาพประกอบที่ 8 แสดงภาพของพญาช้างพรายสารกำลังจะต่อสู้กับสินไซ

 

เมื่อนั้น   พึงคณนาพร้อมหัถถีแสนส่ำ               เห็นแจ่มเจ้าจวนสะท้านทั่วไพร

ช้างตื่นเต้นเต็มแผ่นปถะพี                 ระงมงันคือคู่ดินดาซ้าย

ภูมีเยี่ยมพึงคะณาช้างถ่าว                 เขาแล่นล้นลงพร้อมเผือกสาร

ทูลอาชญพร้อมพายขนาดฉัตทัน         นาโคถึงแกว่งงาเงยไค้

ตาแดงเข้มคือแสงสุริเยต                   อำมาตยม้างฝูงกล้าก่อนพระองค์

เคียดเพื่อมาล่วงล้ำขงเขตรดูแคลน       กูจักกินไตตับโม่มมันตางเมียง

            เค็งๆ พร้อมมามวลมัวมืด                 คันว่าใกล้ฮอดท้าวทวยต้องต่อยธะนู

เสียงแผดเพี้ยงฟ้าลั่นลงกระวาฬ         พายหลวงหลบตื่นซวนเซล้ม

บริวารล้นเนืองนองในป่า                  สายใหญ่น้อย โยมเจ้าเหล่าลง

พาบ ๆ ชลเนตนองไหล                    กลัวตายทุกทั่วแดนดูฮ้าย

นาโคเยื้อนโยมความขอโทษ                          เจ้าจงโผดข้าเถ้าทั้งเชื้อสู่ชุมแด่ท่อน

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 58)

 

         ถอดความ: ช้างนับแสนตัวได้เห็นสินไซรุกล้ำเข้าไปในป่าแห่งช้างต่างก็พากันตื่นเต้น และแตกตื่นกันทั้งโขลง สินไซได้ขอพบกับพญาช้างฉัตทัน บริวารช้างจึงไปรายงานเรื่องราวของสินไซให้กับพญาช้างได้ฟัง ซึ่งพยาช้างฉันทันณมีตาแดงเข้มดังดวงอาทิตย์ เสนาอำมาตรช้างได้ยินดังนั้นก็โกรธโมโหแทนพยาช้างและใช้คำขู่จะฆ่ากินตับไตของสินไซทันที        

         หลังจากนั้นสินไซจึงสั่งสอนช้างโดยการ ยิงศรขึ้นฟ้าทำให้เกิดฟ้าผ่า สะเทือนไปทั่วปัฐพี ทำให้ช้างวิ่งหนีตายกันกลัวจนร้องไห้ พญาช้างฉันทัณฑ์ จึงขอโทษสินไซและขอร้องให้ยกโทษให้ช้างทุกตัวด้วย

         เมื่อสินไซได้สั่งสอนช้างแล้วจึงได้เดินทางมาถึง ด่านนารีผล สินไซได้ไปถึงด่านของนารีผลที่มีรูปร่างงดงามผิวพรรณเปล่งปลั่งอ่อนนุ่ม กลิ่นหอมตลบอบอวนทั่วป่า จนสินไซห้ามใจตนไว้ไม่ไหว และในขณะนั้นก็มีวิทยาธรที่คอยดูแลป่าและเหล่านารีผลได้เข้ามาพบสินไซและได้ต่อสู้กันจนวิทยาธรพ่ายแพ้ไปในที่สุด กวีได้พรรณนาให้เห็นถึงรูปลักษณ์ของหญิงงามได้อย่างเห็นภาพพจน์ที่แม้แต่ชายใดได้เห็นแล้วต้องหลงใหล แต่ในความงามเหล่านี้ก็มีภัยแฝงอยู่อย่างน่าอันตราย ดังนั้น มนุษย์จึงต้องตั้งมั่นด้วย สติ สมาธิ และปัญญาอยู่เสมอ และรู้จักไตร่ตรองคิดให้รอบก่อนที่จะทำกิจต่าง ๆ

      กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ นารีปราโมทย์ คือ สินไซได้เกี้ยวพาราสีกับนารีผลด้วยการหลงใหลในความงาม และพิโรธวาทัง คือ วิทยาธรโกรธที่เห็นสินไซเข้ามารุกล้ำดินแดนของตนและมาเกี้ยวพาราสีกับนารีผล ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

ภาพประกอบที่ 9 แสดงภาพของสินไซเกี้ยวพาราสีกับนารีผลและต่อสู้กับวิทยาธร

 

อันว่า     นารีนี้คือหญิงยวดยิ่งแท้นอ                ลางเล่าไว้พอเพี้ยงแพศเพียง

ไพรขวงโอ้หอมสะเทือนในเถื่อน          ฮสฮ่วงเฮ้าดวงซ้อนป่งซอน

คิงกลมล้วยแขนกองก้าวก่อง              เนื้ออ่อนเกี้ยงปุนต้องแผ่นทอง

เมื่อนั้น  สมพาวท้าวทงกระสันอกสั่น                ภูวะนาดน้าวเถิงท้าวแทบพระทัย

พระก็ชมชอบซ้อนในฮ่มนีฮม             คือคู่เจียมปางฮักฮ่วมพานางฟ้า…

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 64)

            ธรเทพะเถ้าฝูงฮ้ายฮ่อนมา                 เลยเล่าเห็นแก่นแก้วพิเศษศิลปไชย

เขาก็โกรธาเห็งฮ่อเชิงไชยไกล้….          เมื่อนั้นศรีคานน้อยศิลปะชัยชมชื่น

บาก็เห็นฮ่างฮ้ายธรเถ้าแต่งตัว             ฮู้บ่อพั้งพระองค์ถอดศรีเสด็จ

ทะยานเวหาฮ่อธรทานด้าง                ธรทวยก้าวกำเชยเปื้องป่าย

พันหมื่นชั้นบาเว้นบ่ถอง

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 65)

            ถอดความ: นารีผลคือ หญิงที่งามยิ่งนักคล้ายกับดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมโอบอวนไปทั่วทั้งป่า แขนเรียวสวยเนื้อตัวอ่อนนุ่มสีนวลเหลืองดังแผ่นทอง จนทำให้สินไซหัวใจสั่นคลอน ดึงนารีผลมาแนบชิดลำตัวตรงกับหัวใจสินไซก็ได้เชยชมนางนารีผลใต้ร่มไม้ เหมือนดังกับได้รักอยู่กับนางฟ้า ทันใดนั้นเองวิทยาธรผู้โมโหร้ายก็ได้มาพบเห็นสินไซอยู่กับนารีผลจึงจู่โจมเข้ามาหวังฆ่าให้ตายทันที  แต่สินไซไหวตัวทันจึงได้ใช้ศรยิงวิทยาธรโดยไม่ยั้งมือจนวิทยาธรผ่ายแพ้ไป

            สินไซจึงได้เดินทางต่อไปจนถึงด่านนางเทพกินรีเกียงคำ ที่งดงามดั่งกับนางฟ้า บินวนเวียนอยู่บนเวหา ลัดเลาะหน้าผาสูงชันบริเวณนั้นมีแหล่งน้ำที่ นางกินรีใช้เป็นแหล่งอาบน้ำ และสินไซได้พบนางกินรีที่ถอดปีกถอดหางทำให้สินไซหลงใหลนางกินรีทันควร

         กวีใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ นารีปราโมท คือ สินไซได้เกี้ยวพาราสีอยู่กับนางกินรีด้วยการหลงใหลในความงามดุจดังราวกับนางฟ้าที่ลงมาเมืองมนุษย์ ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

ภาพประกอบที่ 10 แสดงภาพของสินไซเกี้ยวพาราสีอยู่กับนางกินรี

           

 

ผู้ข้า       เป็นพงษ์เชื้อเดียระฉานสินต่ำ                ลือจักฮมฮสเจ้าจอมช้อยบ่อควร          เจ้าเอย

มิใช่พงษ์พันธุ์เชื้อ                                          อันประสงค์เสมอภาก                      แพงเอย

เชิญหม่อมเดินดุ่งก้ำ                                    การเจ้าที่มี                                   แน่ถอน

อันนี้      แนวคนแท้วาจาโลมล่าย  อันนี้           คำเก่าเฮื่องประถมเถ้าเล่ามา แท้แล้ว

เมื่อนั้น   ผู้เผ่าท้าวทวยทอดมะโนใส                เฮียมก็จงใจประสงค์ขอดพระไมมาน้อม

คำสลับไว้แนวใกลล้านโยชน์                         พี่ก็ฮักฮ่อสู่แสวงดั้นดุ่งเถิงแลเด

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 70)

 

         ถอดความ: น้องนี้เป็นเผ่าพันธุ์สัตว์ต่ำชั้นมิอาจเทียบเคียงกับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ได้หรอก ขอให้ท่านไปทำกิจของท่านดีกว่า วาจาของคนก็พูดแบบนี้มานานแล้ว  ส่วนสินไซจึงตอบว่า ด้วยจิตใจของพี่นี้ใสสะอาด และมีความจริงใจที่จะเอาหัวใจมามอบให้ คำที่พี่พูดมาล้วนแต่จริงทั้งสิ้น พี่นี้จึงได้ฟันฝ่าอุปสรรค์มาพบกับน้อง

         หลังจากที่สินไซได้เชยชมนางกินรีเรียบร้อยแล้วก็ได้เดินทางต่อจนไปพบกับนางสุมณฑาและได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้นางสุมณฑาได้ฟัง และจะพานางสุมณฑากับเมืองเปงจาล ส่วนนางสุมณฑานั้นตัดเยื่อใยจากยักษ์กุมภัณฑ์ไม่ได้ จึงอ้อนวอนสินไซโดยใช้กลอุบายว่าลืมผ้าสะใบที่ห้องเพื่อกลับมาหายักษ์กุมภัณฑ์และปลุกยักษ์กุมภัณฑ์ให้ตื่น

            กวีได้ใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ สัลลาปังคพิไสย คือ นางสุมนทาเศร้าโศกเสียใจอาดูรเป็นอย่างยิ่งที่จำใจพลัดพรากจากคนที่รัก หากไม่ทำเช่นนี้ก็กลัวสามีอันเป็นที่รักจะถึงแก่ความตายเพราะรู้ดีว่าไม่มีใครต้านทางอาวุธของสินไซได้ ซึ่งรู้ได้จากการฝ่าด่านมาถึงเมืองยักษ์ของสินไซ ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

 ภาพประกอบที่ 11 แสดงภาพของสินไซมาพานางสุมณฑาหนีจากยักษ์กุมภัณฑ์

 

เมื่อนั้น   บาจัดอ้อนตาวสุยเสียงฮาบ                อาก็ฟ้าวแต่งเนื้อมีถ้วนเทียวลง

นางก็ทงพระเนตรล้นลาทีทังกะสันคิงแพง เถิงข่องคองคึดได้ทูลหลานแก้วกูณาผายโผด

อาก็ลืมแผ่นผ้าสะใบบ้างค่าควร          ท้าวกล่าวฮ้อนเฮวฮีบทันที

นางก็คืนคุงผัวกอดกุมหิวให้               ลุก ๆ ท่อนเมียจักพากพอยไกลก่อนแล้ว

สังว่ามานอนหลับลื่นคองดูฮ้าย

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 83)

            ถอดความ: นางสุมณฑาอ้อนวอนสินไซทั้งน้ำตาและออกอุบายว่า ลืมผ้าสะใบและให้สินไซพากลับไปเอาสินไซจึงพาอากลับมาเอาผ้าสใบ พอนางกลับคืนมาแล้วก็ได้เห็นยักษ์กุมภัณฑ์หลับอยู่นางจึงพยามปลุกยักษ์กุมภัณฑ์แต่ก็ไม่เป็นผล

            เมื่อยักษ์กุมภัณฑ์ตื่นขึ้นมาไม่เห็นนางสุมณฑาจึงได้ให้กองทัพยักษ์ตามหาและในที่สุดยักษ์กุมภัณฑ์ก็ได้พบนางสุมณฑาอยู่กับสินไซแลจนได้เกิดการต่อสู้กันและยักษ์กุมภัณฑ์ก็ได้พ่ายแพ้ให้กับสินไซ

            กวีได้ใช้รสทางภาษาในการประพันธ์ สัลลาปังคพิไสย คือ การพลัดพรากจากคนรัก ถึงแม้ว่ายักษ์กุมภัณฑ์ได้ลักพานางสุมณฑามาอยู่เมืองยักษ์ก็ตาม แต่ไม่เคยทำให้นางขัดข้องหมองใจแม้แต่น้อย แสดงให้เห็นถึงสามีภรรยาที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันในที่สุดยักษ์กุมภัณฑ์จึงได้ใจนางสุมณฑาไปครอง แต่บัดนี้ยักษ์กุมภัณฑ์ได้สิ้นลมด้วยอาวุธของหลานชายยิ่งทำให้นางสุมณฑาโศกเศร้าเสียใจเป็นยิ่งนัก  ตัวอย่างคำกลอน เช่น

 

อันว่า     ขอนผีท้าวกุมภันภูวะนาด                  ยังเกือกกิ้งกำก้าวไป่วาง 

คิงก็สนๆ เต้นตาแดงดินขว้าง             ผ้าแผ่เท้าลำล้อมุ่นมา

เถิงที่ผาสารทแก้วโองราชเฮียงนาง       ก็จึงมรณามุดมอดประไทยทันนั้น

ภูมีท้าวเสวยแลงแล้วค่ำ                    นางนั่งให้ขอนช้าซากผัว

น้อยแผ่ผ้าผืนอาจปุนปก                   ฮวานๆ เทียนสองยามเยืองใต้

เมืองผีปิ้งปุนเสียงสงัดอยู่                  มีท่อนางนั่งให้เสียงซ้อยซอกคนิง

(จินดา  ดวงใจ,  ม.ป.ป. หน้า 117)

 

            ถอดความ:  ยักษ์กุมภัณฑ์ได้นอนเกลือกกลิ้งอย่างทุรนทุรายร่างกายยังมีชีวิตอยู่ตาแดงขวาง เสื้อผ้าขาดไม่มีชิ้นดี พอมาถึงปราสาทที่นางสุมณฑาอยู่ยักษ์กุมภัณฑ์ก็สิ้นลมหายใจ สินไซได้กินอาหารเย็นแล้ว แต่นางสุมณฑากลับนั่งร้องให้ข้างสามียักษ์และนำมามาปกคลุมให้จนถึงหก หกทุ่มแล้วนางก็ได้จุดเทียน ทั่วทั้งเมืองผีเงียบสงัดมีแต่เสียงนางสุมณฑานั่งร่ำไห้

 

สรุปและอภิปรายผล

 

            จากการศึกษาสุนทรียรสจากวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏในฮูปแต้มอีสาน วัดสนวนวารีพัฒนารามบางส่วน พบว่า ภาพฮูปแต้มที่มีสุทรียรสที่สอดคล้องตามวรรณกรรมสังข์ศิลป์ไซ มีอยู่ 5 ตอน คือ ตอนวิปลาสะบั้น (ยักษ์กุมภัณฑ์ลักตัวนางสุมนฑา) ตอนประสนธิบั้น (ตอนกำเนิดสังข์สินไซและถูกขับไล่ออกจากเมือง) ตอน โคจรบั้น (ตอนสังข์สินไซและกุมมารทั้งหกตามหาอา) และตอน สินไซมาพานางสุมณฑาหนีจากยักษ์กุมภัณฑ์ ตอนมหายุทธกรรมบั้น (กุมภัณฑ์ถึงแก่ความตาย) และด่านผจญภัย มีอยู่ 5 ด่าน คือ ด่านงูซวง    ด่านยักษ์กันดาน  ด่านพระยาช้างฉัททันต์ ด่านนารีผล…(ต่อสู้กับวิทยาธร) และด่านนางเทพกินรีเกียงคำ  รสทางภาษาที่กวีใช้ในการประพันธ์มากที่สุด คือ สัลลาปังคพิไสย รองลงมาได้แก่ พิโรธวาทัง และน้อยที่สุด คือ นารีปราโมทย์ และเสาวจนี

            ปัจจัยที่ทำให้ตอนของด่านผจญภัยของฮูปแต้มอีสานจากวรรณกรรมสินไซที่ปรากฏ รสทางภาษา สัลลาปังคพิไสย คือ ตอนที่ต่อสู้ฆ่ากันมากที่สุด อาจเป็นเพราะว่า ด่านเหล่านี้หากปรากฏอยู่ในวรรณกรรมก็มักเป็นตอนที่ทำให้ผู้อ่านจิตนาการเกิดอารมณ์สะเทือนใจ ซึ่งเป็นความกลัวภายในจิตของมนุษย์ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการใช้สำนวนโวหาร และกวีโวหาร เรื่องภาพในจิตของ กุหลาบ  มัลลิกะมาส (ม.ป.ป.) เป็นภาพที่ปรากฏในจินตนาการตามที่เคยประสบผ่านพบมา ภาพในจิตนี้เป็นภาพที่เห็นด้วยใจคิด ด้วยความรู้สึกในทางวรรณคดีถือว่าวิธีสร้างภาพในจิต มีคุณค่าด้านความเข้าใจลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง และสอดคล้องกับแนวคิดของ ไพฑูรย์ พัฒน์ใหญ่ยิ่ง (2541.  อ้างอิงใน  weitz, 1967) ที่ได้กล่าวว่า โศกนาฏกรรม เป็นเรื่องราวในกวีนิพนธ์ที่เกี่ยวกับความทุกข์ เวทนา น่าสงสาร ซึ่งนักปรัชญาตั้งแต่สมัยอาริสโตเติลถึงสมัยปัจจุบันยอมรับเกือบเป็นเอกฉันท์ว่า โศกนาฏกรรมเป็นผลงานด้านศิลปะซึ่งแตกต่างจากศิลปะอื่น ๆ เพราะมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือความโศกเศร้า เป็นการเลียนแบบการกระทำได้สมบูรณ์ที่สุด มีรูปแบบที่แน่นอนมีภาษาปรุงแต่งด้วยสำนวนภาษาอย่างมีศิลปะ

 แต่ถ้าหากตอนที่ต่อสู้กันปรากฏในฮูปแต้มสิมอีสานก็จะทำให้ผู้ที่พบเห็นจิตใจหดหู่ และหวาดกลัว ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของพระครูธรรมสารสุมณฑ์  (คำพัน  ญาณวีโร) (2547) ที่ได้ทำวิจัยเรื่องศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมของพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมอีสานเรื่องสังข์ศิลป์ชัย พบว่า วรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยมีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนในสังคมอีสานในเรื่องบุญ-บาป การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสาร ชาวอีสานจึงมีประเพณีฮีตสิบสองคองสิบสี่ สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ชาวอีสานได้ร่วมกิจกรรมทำบุญกันเป็นประจำทุกเดือนสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและมีคำสอนของคนเฒ่าคนแก่ที่เปรียบเสมือนเป็นกฎกติกาให้ลูกหลานชาวอีสานได้ยึดถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเคร่งครัด มาจนถึงปัจจุบัน

            ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า สุนทรียรสที่ปรากฏในวรรณกรรมสินไซผ่านฮูปแต้มอีสานนั้น รสทางภาษาที่กวีใช้ในการประพันธ์มากที่สุด คือ สัลลาปังคพิไสย ที่แสดงถึงความโศกเศร้าเสียใจต่อการสูญเสียของญาติมิตรและเพื่อนฝูง ในตอนของด่านผจญภัยของสินไซ เป็นที่น่าสังเกตว่าโดยปกติตอนที่แสดงถึงการต่อสู้ไม่ว่าจะปรากฏในวรรณกรรม หรือในละครทีวีมักสร้างความตื่นเต้นและเร้าใจให้กับผู้ติดตามอยู่เสมอ  แต่ในทางตรงกันข้ามตอนต่อสู้ ในวรรณกรรมสินไซกลับกลายเป็นว่าเกิดความหดหู่น่ากลัว หรืออาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าวรรณกรรมสินไซมีหลักธรรมะสอดแทรกอยู่และตัวสิมเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเคารพนับถือ จนกลายเป็นสิ่งควบคุมทางสังคมของคนอีสาน ให้เกิดความตระหนัก สร้างความสามัคคีในชุมชน หลีกเลี่ยงการต่อสู้อันจะนำไปสู่การสูญเสีย ดังที่ปรากฏเห็นจากตอนของด่านผจญภัยจากวรรณกรรมสินไซผ่านฮูปแต้มอีสานของวัดสนวนวารีนี้

 

อ้างอิง

 

กุหลาบ  มัลลิกะมาส.  (ม.ป.ป.).  วรรณคดีวิจารณ์.  กรุงเทพฯ.  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

จารุวรรณ  ธรรมวัตร.  (2552). โนทัศน์ในนิทานสำนวนอีสาน. วิทยานิพนธ์ (ปร.ด. ภาษาไทย): 

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

จินดา  ดวงใจ  (ม.ป.ป.).  นิทานสังข์ศิลป์ชัย.  ขอนแก่น: คลังนานาธรรม.

ธวัช  ปุณโณทก.  (2537).  วรรณกรรมภาคอีสาน.  กรุงเทพฯ:  มหาวิทยาลัยราคำแหง.

บุรินทร์ เปล่งดีสกุล.  (2554).  พัฒนาการของจิตรกรรมฝาผนังอีสานกรณีศึกษาจังหวัดขอนแก่น

จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ด.  วารสารศิลปกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  

            3, 1 ( ม.ค – ม.ค), 84-113.

ไพฑูรย์  พัฒน์ใหญ่ยิ่ง.  (2541).  สุนทรียศาสตร์:  แนวความคิด ทฤษฎีและการพัฒนา.   

กรุงเทพฯ:  เสมาธรรม.

พัฒยา จันดากูล.  (ม.ป.ป.). อีสานhttp://isan.tiewrussia.com/.  สืบค้นเมื่อวันที่ 11ตุลาคม 2558

พระครูธรรมสารสุมณฑ์  (คำพัน  ญาณวีโร). 2547. ศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมของพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมอีสาน

            เรื่องสังข์ศิลป์ชัย. วิทยานิพนธ์.    พุทธศาสนา:   มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์.  (ม.ป.ป.).  สุนทรียรส แห่งวรรณคดี.  กรุงเทพฯ : เฌ.เดียมอง.

รำเพย  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณศิลป์อีสาน.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  เลย: รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.

วิโรฒ ศรีสุโร.  (2541).  สิมอีสาน.  วารสารวิจัย มข.  3, 1 (ม.ค.-มิ.ย.), 92-95.

สุมาลี เอกชนนิยม.  (2548).  ฮูปแต้มในสิมอิสาน.  กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์มติชน.

สุวิทย์  ธีรศาสวัต.  (2557).  ประวัติศาสตร์อีสาน 2322-2488.  ขอนแก่น:  คลังนานาวิทยา.

อุดม  บัวศรี.  (2546).  วัฒนธรรมอีสาน.  ขอนแก่น:  คลังนานาวิชา.

อดุลย์  ตะพัง.  (2543).  ภาษาและอักษรอีสาน.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.


Comments