วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน เรียบเรียงโดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย

โพสต์6 ก.ค. 2559 20:54โดยไม่ทราบผู้ใช้

วรรณกรรมท้องถิ่นอีสาน

เรียบเรียงโดย บุญจันทร์  เพชรเมืองเลย

         วรรณกรรม เป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ เพื่อเรียกหนังสือทุกประเภทที่เป็นที่เข้าใจกันโดยปริยายว่ายังไม่ได้รับการรับรองหรือยกย่องว่าดีเด่นถึงขึ้นเป็นวรรณคดี คำว่า วรรณกรรม จึงมีความหมายตรงกับคำว่า วรรณคดีในความหมายอย่างกว้างนั่นเอง คำนี้ปรากฏใช้เป็นครั้งแรก ในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 (รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์, 2526) 

         วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เช่น บทความ   สารคดี นวนิยาย เรื่องสั้น เรียงความ บทภาพยนตร์ (พจนานุกรรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน,  2525)

          วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทุกประเภท ทุกชนิดที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น นับตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน (ดนุพล ไชยสินธุ์,  2553)

         คนอีสานนิยมแต่งเรื่องราววรรณคดีของตัวเองไว้มากมาย และโยงเรื่องราวเหล่านั้นเข้าสู่พระพุทธศาสนา หรือบางทีก็หยิบมาจากปัญญาสชาดก หรือพระเจ้า 50 ชาติ เอามาแต่งเป็นนิทาน และท้ายสุดของวรรณคดีนั้น ๆ จะมีการสรุปหรือม้วนชาดให้เห็นว่า ใครในอดีตชาติได้กลับมาเกิดเป็นใครในปัจจุบัน เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจารึกไว้ในใบลานแล้ว ยังนำไปเขียนเป็นจิตรกรรมตามผนังโบสถ์ในอีสาน วรรณคดีเรื่องสำคัญ ๆ ที่นักปราชญ์อีสานศึกษาค้นคว้าไว้นั้นได้แก่ (อุดม บัวศรี,  2546)

 

 

ปัญหาของวรรณกรรม (การสูญเสีย การทำลาย การไม่เห็นคุณค่า)

 

          1      การสูญเสีย

           1.1    ขาดการทำความเข้าใจในเรื่องของวรรณกรรม  ผู้ที่สนใจศึกษาไม่ทำความเข้าใจในการนำวรรณกรรมต้นฉบับไปใช้งาน โดยการเปลี่ยนแปลงสำนวนเนื้อหาของต้นฉบับเดิมด้วยอารมณ์และความรู้สึกของตนเองทำให้สำนวนเนื้อหาของวรรณกรรมนั้นสูญหายไปเรื่อย ๆ

          1.2    ขาดการเก็บรวบรวมไว้ในที่ปลอดภัย เช่น วรรณกรรมส่วนใหญ่จะอยู่ตามวัดวาอาราม ผู้ที่อยู่ในวัดอาจจะละเลยไม่ได้สนใจเวลามีการเปลี่ยนแปลงก่อสร้างวัดใหม่ก็อาจมีการทิ้งวรรณกรรมเหล่านี้ไป ด้วยเงื่อนไขที่ว่า “ไม่มีประโยชน์ และรกเกะกะ

          1.3    ขาดผู้สืบทอด และต่อยอดที่ให้ความสนใจอย่างแท้จริง ซึ่งในปัจจุบันนี้หน่วยงานของภาครัฐได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 “หมวด 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 27 ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติ” แต่กลับเป็นว่าสถาบันการศึกษาขาดผู้ที่ถ่ายเรื่องของวรรณกรรมท้องถิ่น ผู้เรียนจึงไม่ได้เรียนเรื่องของวรรณกรรมท้องถิ่นอย่างจริงจัง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้วรรณกรรมท้องถิ่นสูญหายไปก็เป็นได้

          1.4    ยกเลิกคำว่า “ลาว” พ.ศ. 2442 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) ได้มีพระบรมราชโองการในการเปลี่ยนแปลงให้ทุกหัวเมืองใน มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ การกรอกข้อมูลสำมะโนครัวในช่องสัญชาติ ว่า “ชาติไทยบังคับสยาม” ทั้งหมด ห้ามมิให้ลงหรือเขียนในช่องสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ผู้ไท ฯลฯ โดยเด็ดขาด ซึ่งนับแต่นั้นมากระบวนการเรียนการสอนของภาคอีสานก็ได้รับอิทธิพลของภาษาไทยของภาคกลางมาตั้งแต่บัดนั้น ด้วยระบบการศึกษานี้ทำให้ภาคอีสานต้องเรียนภาษากลาง ทำให้ภาษาไทยน้อย และภาษาธรรมค่อย ๆ เลือนลางจางหายไป

 

            2      การทำลาย

              2.1    การเปลี่ยนของโลกยุคโลกาภิวัตน์ เช่น ใน ยุคมืด (พ.ศ.2501-2506)

            “บทกวีของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ปัญหาในการวิพากษ์วิจารณ์มักเป็นเรื่องรูปแบบ  วงนักกลอนต่าง ๆ กล่าวหาว่าอังคารเขียนร้อยกรอง ไม่ถูกฉันทลักษณ์ ซึ่งข้อนี้กลับเป็นใบเบิกทางให้แก่นักกลอนรุ่นใหม่ว่าไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดในด้านรูปแบบนักมาจนถึงปัจจุบัน” สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้อาจทำลายรูปแบบของวรรณกรรมท้องถิ่นไปจดหมด การกระทำเช่นนี้เข้าข่าย เป็นการทำลายวรรณกรรมท้องถิ่นทางอ้อม ด้วยเช่นกัน

               2.2    ทำลายด้วยวิธีการ “เจตนาไม่สืบสานต่อ” เพราะเห็นว่าวรรณกรรมท้องถิ่นเหล่านี้ล้าลัง เช่น “หนังสือวรรณคดีเก่า หลายเล่มถูกประณามหยามเหยียด เช่น อิเหนา ลิลิตพระลอ ฯลฯ เพราะเนื้อหาและแนวคิดไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน” นี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้วรรณกรรมจะค่อย ๆ เลือนลางหายไป เพราะคนทั่วไปไม่เข้าใจว่าวรรณกรรมในอดีตจะสะท้อนภาพของยุคสมัยของมันเองเท่านั้น มิใช่สะท้อนภาพของอนาคต

 

         3      การไม่เห็นคุณค่า

          4.3.1    ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวัฒนธรรมปล่อยปะละเลย ในด้านภาษาถิ่นอีสานของตนเองอย่างจริงจัง  

          4.3.2    รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมามากจนลืมรากเหง้า ภาษาและวรรณกรรมของตนเอง        

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาวรรณกรรม

 

       1    อนุรักษ์

             1.1  ในฐานะที่วรรณกรรมพื้นบ้านมีลักษณะสำคัญ คือ ความเป็นมุขปาฐะ และวรรณกรรมลายลักษณ์ก็คือ การบันทึกส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมุขปาฐะ ทั้งวรรณกรรมที่เขียนขึ้นใหม่ก็มีต้นเค้ามาจากวรรณกรรมมุขปาฐะนั้นเอง จึงต้องมีวิธีการที่จะทำให้วรรณกรรมมุขปาฐะนี้คงอยู่ในความทรงจำของคนให้มากที่สุด และยืนนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการที่ธรรมดาสามัญที่สุด ก็คือ การซ้ำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่าเรื่องและการขับบทกวี ผู้เล่าอาจจะเล่าซ้ำเรื่องเดิม บทเดิม โดยไม่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่นการเล่านิทานถึงตอนที่พระเอกเผชิญหน้ากับศัตรู อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในบทพรรณนานาถึงความหวาดเกรงของศัตรูคู่ต่อสู้ หรือเพิ่มเติมถ้อยคำและรายละเอียดให้มากขึ้นเพื่อให้ดูสมเหตุสมผลว่า พระเอกเป็นคนเก่งจริง ๆ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ก็คือการนำเรื่องไปสู่จุดสุดยอด และพระเอกก็จะได้ชัยชนะหรือประสบความสำเร็จอยู่เสมอ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่อง แต่การเล่าซ้ำในเนื้อเรื่องอันยืดนานนี้จะทำให้ผู้เล่านิทานหรือผู้ขับบทกวีมีโอกาสแสดงออกซึ่งศิลปะในการเล่าหรือขับร้องของเขาได้มากที่สุดเท่าที่เขาต้องการ

               1.2  ศึกษาค้นคว้า วิจัย ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ในรากเหง้าพื้นเพของภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านวรรณกรรมอย่างแท้จริงต่อไป

 

      2    ฟื้นฟู

             2.1  นักวิชาการของอีสาน ควรริเริ่มลงมือปริวัตร ผลิตเอกสารทางด้านวรรณกรรมให้มีความแพร่หลายสู่สาธารณชนมากขึ้น

             2.2  ควรใช้สื่อมวลชนทุกสาขาให้เป็นประโยชน์ เพราะปัจจุบันนี้บรรดาสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็พร้อมที่จะอ้าแขนรับงานด้านนี้อยู่แล้ว เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลโดยสื่อมวลชน ทำให้ข่าวเกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นได้แพร่หลายเป็นที่สนใจของผู้คนทุกชาติทุกภาษา หรืออาจเผยแพร่ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

 

         3    ส่งเสริม

               3.1  ศิลปวัฒนธรรมชาติ จะมีการเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์ของชาติ การเปลี่ยนแปลงที่วัฒนธรรมเป็นห่วงมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงที่ไร้ทิศทาง ไร้สำนึก ไร้การศึกษา และคัดเลือกว่าอะไรดี อะไรชั่ว และในวันข้างหน้าอาจทำให้วัฒนธรรมของชาติเกิดวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายขึ้นก็เป็นไปได้ ดังนั้นประเทศไทยควรเพิ่มความตระหนักให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการส่งเสริมทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะ เรื่องของ วรรณกรรมของชุมชน ของภาค ของประเทศ ให้มีจุดยืนที่เข้มเข็ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบไปด้วย

                   1. กรมศิลปากร

                   2. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

                   3. กรมศาสนา

                   4. คณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ

                   5. สถาบันการศึกษาต่าง ๆ

                   6. กระทรวงวัฒนธรรม

                   สถาบันต่าง ๆ เหล่านี้ ควรจะได้หาทางประสานงานกัน เพื่อวางแนวทางในการส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรม ด้านวรรณกรรมท้องถิ่น ให้เด่นชัดมากขึ้นกว่านี้

             3.2  ควรเร่งเร้าให้ประชาชนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านวรรณกรรมของตนเอง และสามารถใช้วัฒนธรรมนี้ให้เข้าถึงประชาชนทุกคน และแต่ละจังหวัดควรประชาสัมพันธ์ท้องถิ่นของตนเองด้วย การส่งเสริมดังกล่าวจะทำให้เกิดความแพร่หลายในด้านค่านิยม ทำให้คนในท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์จากการเผยแพร่วัฒนธรรมของตนเอง เช่น ให้คนในชุมชนหารายได้ด้วยการร้องหมอลำ โดยการนำวรรณกรรมท้องถิ่น เช่น ท้าวขูลูนางอั้วมาเป็นบทในการแสด ให้หมอลำได้ลำ เช่นนี้ก็จะช่วยให้คนในท้องถิ่นเกิดรายได้และอนุรักษ์ วรรณกรรมไปด้วย

               3.3 สถาบันการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชนทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ควรส่งเสริมให้นักศึกษา และนักวิจัยจัดทำวิจัยในด้านวรรณกรรมท้องถิ่น แล้วนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ในการทำนุบำรุงการศึกษาทางภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรด้านวรรณกรรม เช่น หลักสูตรหมอลำ ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาภูมิปัญญาไทย และใช้เป็นเอกสารประกอบการ อบรมและสัมมนา

                3.4  ควรส่งเสริมผู้ที่สนใจในการประพันธ์บทกลอน เช่น บทกลอนลำ ให้เข้าใจในเรื่องของรูปแบบฉันทลักษณ์ และการเลือกใช้ภาษาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อทำให้บทกลอนลำที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคุณภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ


 

อ้างอิง

กิ่งแก้ว อัตถากร.  (2519).  คติชนวิทยา. กรุงเทพฯ.

ดนุพล  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณกรรมท้องถิ่นจังหวัดเลย.  พิมพ์ครั้งที่4.  เลย:  รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.

ธวัช ปุณโณทก,  (2537).  วรรณกรรมภาคอีสาน.  กรุงเทพฯ.  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

ภัทรา ตั้งคำ.  (2529).  วรรณกรรมท้องถิ่นของเยอร์มัน.  กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์.  (2526).  ความรู้ทั่วไปทางภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราคำแหง

_________.  (ม.ป.ป.).  วรรณกรรมปัจจุบัน.  พิมพ์ครั้งที่ 15.  กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

รำเผย  ไชยสินธุ์.  (2553).  วรรณศิลป์อีสาน.  พิมพ์ครั้งที่ 4.  เลย: รุ่งแสงธุรกิจการพิมพ์.

เสถียรโกเศศ  นาคะประทีป.  (2507).  การศึกษาวรรณคดีแง่วรรณศิลป์.  พระนคร: ราชบัณฑิตยสถาน.เสาวลักษณ์ อนันตศานต์.  (2538).  นิทานพื้นบ้านเปรียบเทียบ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:

          มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

อุดม บัวศรี.  (2546).  วัฒนธรรมอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.


Comments