Recent Announcements
แสดงบทความ 1 - 4 จาก 4 รายการ
ดูเพิ่มเติม »
|
วัฒนธรรม
ลิขสิทธิ์เพลง: หมอลำซิ่งเป็นยุคสุดท้ายของหมอลำอีสานจริงหรือ โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
ลิขสิทธิ์เพลง: หมอลำซิ่งเป็นยุคสุดท้ายของหมอลำอีสานจริงหรือ โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
เพลงลูกทุ่งหมอลำถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมประเภทร้อยกรองที่ใช้สำนวนโวหารที่สละสลวยอีกประเภทหนึ่ง โดยผสมผสานเข้ากับศิลปะทางดนตรีได้อย่างกลมกลืนในด้านการเรียบเรียงเนื้อหา ซึ่งเพลงได้สืบทอดมาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างลึกซึ้งและกินใจ (บุญเกิด มาดหมาย, 2550) เพลงลูกทุ่งได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพลงลูกทุ่งหมอลำได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับคนสู้ชีวิต และสาวโรงงาน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้คนทั่วทั้งประเทศ และในปี พ.ศ.2556 วงการศิลปะการแสดงของอีสานต้องสั่นคอนจิตใจอย่างหนัก เพราะมรดกภูมิปัญญา ที่บรรพบุรุษอีสานได้สร้างสรรค์สั่งสมไว้กำลังใกล้ไร้คนที่มาสืบทอดสานต่อ ที่กล่าวอยู่ในที่นี้ คือ การแสดง“หมอลำ” หมอลำนั้นถือกำเนิดมาตั้งแต่โบราณกาล ต้องอาศัยนักวิชาการ ปราชญ์ผู้รู้ช่วยกันศึกษา ค้นคว้า วิจัย ถึงการกำเนิดหมอลำว่ามาจากที่ใด ซึ่งก็คงเพียงแต่ได้แค่สันนิฐานกันเท่านั้น โดยต้องอาศัยการศึกษาวิจัยแบบเจาะลึก ทางแหล่งโบราณคดี การศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชน นำหลักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยามาอ้างอิงทฤษฎี รวมทั้งอาศัยการศึกษาจากวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานจากใบลาน หนังสือก้อม และข้ามไปศึกษาถึงประเทศเพื่อบ้านอย่างประเทศลาวด้วย เพราะเขาก็มีการขับลำอยู่เช่นเดียวกับไทย (อุดม บัวศรี, 2546) ดังนั้น หมอลำจึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะการแสดงที่อำมตะ ไม่มีวันตายจากสังคมอีสานได้เลย และตกทอดเป็นมรดกภูมิปัญญามาจนถึงปัจจุบัน อย่างน่าชื่นชม และภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของเราตลอดมา ซึ่งกว่าจะมาเป็นหมอลำได้จนถึงทุกวันนี้มีพัฒนาการเวลามาหลายช่วงด้วยกัน พัฒนาการเหล่านี้ล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากการสันนิฐานทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้ว่าจะไม่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนอีสานเลย กลับกลายเป็นว่ามีความสัมพันธ์กันแทบแยกไม่ออกว่า เพราะว่าหมอลำมีอยู่เกือบทุกพื้นในภาคอีสานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยหล่อหลอมให้ผู้คนเป็น ชุมชน ชาติพันธุ์ ที่เป็นอัตลักษณ์ เพียง 1 เดียว จารุวรรณ ธรรมวัตร (ม.ป.ป.) ได้ให้ข้อสันนิฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดหมอลำในยุคปัจจุบันว่า หมอลำเกิดจากการอ่านหนังสือผูก และพัฒนานำมาสู่งความเชื่อในลัทธิภูตผีและวิญญาณ ซึ่งต้องบวงสรวงอันเป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยความกลัวภัยและเป็นมงคลชีวิตและสังคม และพัฒนาต่อมาเป็นการจ่ายผญามีการเกี้ยวพาราศีของหนุ่มสาวและเป็นการ เจราโต้ตอบกันกลอนลำส่วนใหญ่นั้น เป็นเรื่องราวที่ผูกแต่งขึ้นสำหรับขับลำให้จบเรื่องภายในกลอนเดียว ทำนองเดียว ขับลำให้จบเรื่องในหลายกลอน หลายทำนอง (จิรภัทร แก้วกู่, 2541) จากการศึกษาจากนักวิชาการ และปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เขียนจึงขอสมมุติฐานว่าหมอลำอาจจะมีลักษณะพัฒนาการมาดังนี้ 1. ลำผีฟ้า สันนิฐานว่า ในอดีตความเจริญยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้านที่ห่างไกลเมือง หากเวลาป่วยไข้ก็แทบไม่มีโรงพยาบาลเหมือนปัจจุบัน ได้แต่อาศัยการรักษาแบบสวดอ้อนวอนเทพเจ้าให้ช่วยเหลือ เยียวยาอาการป่วยไข้ การรักษาโดยการ ลำผีฟ้า (เทวดา) โดยการลำประกอบแคน เป็นต้น (ประมวล พิมพ์เสน, 18 มีนาคม 2556: สัมภาษณ์) 2. ลำพื้น สันนิฐานว่า เกิดจากการเล่านิทานของคนเฒ่าคนแก่ตามหมู่บ้าน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีทีวี หลังจากทานข้าวเย็นเรียบร้อยแล้ว เด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็จะมาฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทานกันซึ่งสาระในนิทานนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่นสังข์สินไซ จำปาสี่ต้น นางหมาขาว นางนกกะยางขาว เป็นต้น และเพื่อความตื่นเต้นและเร้าใจยิ่งขึ้นผู้เล่านิทานก็มีท่าฟ้อน ท่าลำเกิดขึ้นมีแคนมาประกอบ เป็นต้น (ระเบียบ พลล้ำ, 28 สิงหาคม 2558 : สัมภาษณ์) 3. ลำลอน ลำกลอนเป็นการแสดงตอบโต้กันระหว่างชายและหญิง โดยมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบลำ ทำนองลำประกอบไปด้วย ลำทางยาว ลำทางสั้น และลำเต้ย เป็นต้น (เคน ดาเหลา, 18 กรกฎาคม 2554 : สัมภาษณ์) 4. ลำเรื่องต่อกลอน หรือลำหมู่/ลำเพลิน/ลำเต้ย ในยุคนี้ความเจริญได้เข้าถึงแล้ว มีเวทีแสงสีเสียงครบ ในการแสดงใช้คนเป็นจำนวนมาก 50 – 100 คน การแต่งกายคล้ายกับลิเกภาคกลาง (อร่าม มุงคำภา, 12 พฤศจิกายน 2557 : สัมภาษณ์) 5. ลำซิ่ง พัฒนามาจากลำกลอนมีดนตรีที่ทันสมัยเป็นสากล จังหวะดนตรีเร้าใจปลุกใจให้เต้นกลบความเหนื่อยล้าได้ (ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร, 18 กรกฎาคม 2554 : สัมภาษณ์) จากวิวัฒนาการของหมอลำที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หากชาวอีสานไม่หวงแหนหมอลำคงทิ้งไปนานแล้ว และอาจจะไม่มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นได้ ซึ่งสอดคล้องกับ ทฤษฎีวิวัฒนาการ อีวอลลูชันนารี ทีโอรี (evolutionary theory) ตามแนวคิดของ ไทเลอร์ (Tylor) ที่เชื่อว่า สังคมที่เจริญถึงขั้นอารยะธรรมก็อาจเสื่อมสลายได้เหมือนกับร่างกายมนุษย์ สังคมที่อยู่ขั้นเจริญแล้วมันเป็นการอยู่รอดได้ด้วยการปรับตัวด้วยความสามารถอยู่ตลอดเวลา (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2543) และสอดคล้องกับ แนวคิดวัฒนธรรมสมัยนิยม ป๊อบปิวลาร์ คัลเชอร์(Popular Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยนิยมของคนในยุคนั้น ๆ วัฒนธรรมสมัยนิยมเป็นวัฒนธรรมเป็นความเป็นไปได้ แอนนิติง โกส (anything goes) โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสนิยมของคนในสังคมอยู่ตลอดเวลา (สุนทรี พรหมเมศ, 2542) ในปัจจุบันสังคมโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดสังคมอุตสาหกรรมขึ้นมามากมายในรูปแบบ โรงงาน บริษัท ห้างร้าน เป็นต้น ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดปัญหาตามมาก็ คือ การเอาเปรียบหรือการเห็นแก่ตัวของคนในสังคม ดังตัวอย่างการใช้กฎหมายควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานเพลงของค่ายเพลงค่ายหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวงการเพลงลูกทุ่ง และหมอลำในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ ถ้าหากใช้ไม่ประนีประนอมก็อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย เช่น เหตุการณ์จับลิขสิทธิ์เพลงในปัจจุบันนี้ ซึ่งส่งผลกระทบของการถ่ายทอดวัฒนธรรมอย่าง ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ หมอลำกลัวโดนจับลิขสิทธิ์แต่ละคณะก็เริ่มทยอยกันเลิกแสดงหมอลำไปในที่สุด ผลสุดท้ายลูกหลานชาวอีสานก็ต้องอพยพเข้าสู่เมืองหลวง และหาแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นหนุ่มสาวโรงงาน ทำให้การถ่ายทอดหมอลำเสื่อมหายไป และรายได้ที่เสียไปกับค่าลิขสิทธิ์ อาจจะไม่คุ้มกับการลงทุนในการตกแต่งเวที ค่าชุดการแสดงทำให้เกิดความท้อต่อเจ้าของวงหมอลำ อาจทำให้เลิกกิจการไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งผลกระทบที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับ ทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ คัลเชอร์ แอนด์ เพฟชันเนิลลิที (Culture and Personality) ในด้าน ไซโคโลจิเคิล แอ็พโพรส (Psychological Approach) เป็นการศึกษาวัฒนธรรมในด้านจิตใจ คือ เอ็คโคโนมิก ไลฟ์ ฟอร์ม (economic life Form) โดยยึดมั่นเอาผลประโยชน์เป็นหลัก ไม่มองในด้านคุณธรรม ดี และเลว (นิยพรรณ วรรณศิริ, 2550) หากเรามาทบทวนเรื่องราวจากอดีตของคนอีสาน จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีชาติพันธุ์กลุ่มใดสามารถเปลี่ยนชาวอีสานให้เหมือนกับ ภาคอื่น หรือชาติอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ทุกพื้นที่ต่างก็มีวัฒนธรรม สังคม ประเพณี และการดำรงชีวิต ที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง และหากมองอีสานให้เข้มข้นจะเห็นได้ว่า ถ้าหากคนอีสานไม่แตกต่างกับคนภาคอื่น ชาติอื่น ๆ ในด้านปัจจัยทาง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ของอีสานก็อาจจะไม่มีวันเติบโตขึ้นมาได้ จุดเด่นด้านใดที่จะเชื้อเชิญชาวต่างถิ่นเข้ามาดูมาเยี่ยมชมเรา (ถ้าหากเหมือนกันหมดทั่วโลก)แต่ในปัจจุบันนี้กลับเกิดเหตุการณ์ที่น่าเป็นหวงแทนคนอีสานกลุ่มของศิลปะการแสดงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว คือ หมอลำหลายคณะต้องเสียเปรียบให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ใช้อำนาจเผด็จการอย่างไม่ปราณี โดยการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงกับคณะหมอลำ เรื่องราวมีอยู่ว่าหากนักร้องคนใดที่นำผลงานเพลงของบริษัทดังกล่าวที่ไม่ขอลิขสิทธิ์นั้นไปร้องจะถือว่าผิดลิขสิทธิ์โดยมีการดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเรื่องลิขสิทธิ์เพลงนี้อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกะทันหันจนเกินไปจนทำให้คณะหมอลำหลายคณะปรับตัวไม่ทันจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น และหากย้อนกลับไปในอดีตของชาวอีสานสมัยก่อนเด็กที่ไปเลี้ยงควายตามทุ่งนาก็จะร้องเพลงร้องหมอลำบนหลังควย พอถึงเวลา ทำไร่ ทำนา ทำสวน ก็ร้องเพลงหมอลำ เทศการสังสรรค์กินเลี้ยงฉลองกันตามหมู่บ้านก็เปิดเพลงหมอลำ หากมีการทำบุญประเพณี ฮีตสิบสอง ของอีสานก็ร้องเพลงหมอลำ จ้างหมอลำ เป็นต้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่หมอลำนำเพลงของค่ายเพลงมาร้องนี้จะช่วยเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ค่ายเพลงได้มีชื่อเสียงไปด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์กับลิขสิทธิ์เพลงในครั้งนี้ และยุคของหมอลำของคนอีสานต้องยุติที่ หมอลำซิ่ง จริงหรือ อ้างอิง 1. อ้างอิงจากหนังสือ วารสาร และวิทยานิพนธ์
จิรภัทร แก้วกู่. (2541). กาพย์กลอนอีสาน. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น. จารุวรรณ ธรรมวัตร. (ม.ป.ป.) รายงานการวิจัยบทบาทของหมอลำต่อสังคมอีสานในช่วงกึ่งศตวรรษ. มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ. นิยพรรณ วรรณศิริ. (2550). มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : เอ๊กซเปอร์เน็ต. บุญเกิด มาดหมาย . (2550). วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมในบทเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์. ค้นคว้าอิสระ. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย: มหาวิทยาลัยนเรศวร. สุนทรี พรหมเมศ. (2542). ทฤษฏีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2543). ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา. กรุงเทฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. อุดม บัวศรี. (2546). วัฒนธรรมอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.
2. อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2558, สิงหาคม.) ระเบียบ พลล้ำ. สัมภาษณ์. หมอลำพื้น, สมุดจดบันทึก [2558, สิงหาคม 28.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2556, มีนาคม.) ประมวล พิมพ์เสน. สัมภาษณ์. กลอนลำผีฟ้า, สมุดจดบันทึก [2556, มีนาคม 18.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2557, พฤศจิกายน.) อร่าม มุงคำภา. สัมภาษณ์. ลำเรื่องต่อกลอน, กล้องวีดีโอของผู้สัมภาษณ์ [2557, พฤศจิกายน 12.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2554, กรกฎาคม.) เคน ดาเหลา. สัมภาษณ์. หลักของการแต่งกลอนลำและ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย (หมอลำกลอน), กล้องวีดีโอของผู้สัมภาษณ์ [2554, กรกฎาคม 18.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2554, กรกฎาคม.) ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร. สัมภาษณ์. พัฒนาการของหมอ ลำกลอนจากหมอลำกลอนย้อนยุคมาเป็นหมอลำกลอนประยุกต์ (ลำซิ่ง). จดบันทึก [2554, กรกฎาคม 18.] ที่มาของภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=o0A7s3qPlcg |
การประพันธ์กลอนลำ หมอลำเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2543 จังหวัดขอนแก่น โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
การประพันธ์กลอนลำ หมอลำเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2543 จังหวัดขอนแก่น โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสไปสัมภาษณ์ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดงพื้นบ้านหมอลำ พ่อครูเคน ดาเหลา เกี่ยวกับ หลักของการแต่งกลอนลำและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย (หมอลำกลอน) ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ซึ่งข้อมูลนี้มีประโยชน์อย่างมาก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ซึ่งมีหัวข้อดังต่อไปนี้ (เคน ดาเหลา, 2554, กรกฎาคม.) 1. ด้านประสบการณ์ของการแต่งกลอนลำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.1 ผู้ที่จะมาแต่งกลอนลำได้นั้นในสมัยก่อนจะเป็นกลุ่มของนักบวชที่สนใจการลำหมอลำรุ่นเก่า กลุ่มคนเหล่านี้จะแต่งกลอนลำได้เป็นอย่างดี 1.2 กลุ่มที่แต่งหมอลำได้ดีที่สุดก็คือกลุ่มที่เป็นหมอลำอยู่แล้วและเป็นผู้ที่มีหัวคิดเฉลียวฉลาด สามารถด้นกลอนสดได้ และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ จะเรียนเขียนกลอนลำได้ดีและรวดเร็วกว่าคนที่ไม่ได้เป็นหมอลำ แต่อย่าไรก็ตามการเรียนหมอลำนั้นใครก็สามารถเรียนได้ขึ้นอยู่กับความพยายามความเอาใจใส ความฉลาดของแต่ละบุคคลด้วย 2. ด้านข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการแต่งกลอนลำ เนื้อหาของข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการแต่งกลอนลำนั้นมีอยู่หลายรูปแบบและ ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ที่แต่งด้วย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของนโยบาย ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นต้น แล้วนำมาจัดเรียงให้เป็นกลุ่มเพื่อที่จะนำมาแต่งเป็นกลอนลำ หลังจากที่ได้เนื้อหาครับถ้วนแล้วก็สามารถนำมาแต่งเป็นกลอนลำได้ทันที 3. ด้านขั้นตอนของการแต่งกลอนลำ 3.1 การแต่งกลอนลำนั้นขึ้นอยู่กับสัมผัสระหว่างเนื้อหาของกลอนลำ เช่น จะมีการสัมผัสคำกันไปเรื่อย ๆ และคำสุดท้ายของวรรคที่สอง อาจจะไปสัมผัสกับต้นวรรคที่ 4 ก็ได้ แต่จะต้องมีสัมผัสในให้มากที่สุด (ตัวอย่างกลอนลำ) ฟังเด้อเจ้าคุณพ่อศรัทธา พวกหมู่เจ้าได้มาฟังลำฟังร้อง ฟังเด้อพวกพี่น้อง พ่อแม่ทั้งหลาย 4. ด้านจุดที่ทำให้กลอนลำไพเราะ 4.1 ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและทำนองของผู้ลำ เช่น กลอนลำเกี้ยวพาราสี กลอนตลกโปกแฮฮา กลอนเบ็ดเตล็ด (สับเขิน) กลอน สองแง่ สามง้าม เป็นต้น ถ้าอยากฟังกลอนลำแบบไพเราะ (ออนซอน) ก็อาจจะฟังกลอนลำแบบนิทาน จำพวกลำเรื่องต่อกลอน เช่น เกี้ยวพาราสี ศรีธน มโนรา จำปาสี่ต้น พระเวสสันดร เป็นต้น ถ้าอยากฟังเกี่ยวกับเนื้อหาสาระก็เป็นจำพวกกลอนโบราณคดี เป็นต้น 5. ด้านการหาอารมณ์ในการแต่งกลอนลำ 5.1 ถ้าหากคนที่สามารถแต่งกลอนลำได้จนแตกฉานแล้วจะสามารถแต่งกลอนลำได้โดยที่ไม่ต้องกังวลอะไรเลยเพราะสามารถด้นกลอนสดไปพร้อมกับการแต่งกลอนลำ ส่วนคนที่ยังไม่แตกฉานจำเป็นจะต้องหาที่สงบเงียบในการแต่งกลอนลำเพื่อต้องการหาสมาธิ ถึงจะแต่งกลอนลำได้ดีแต่อย่างไรก็ตามโจทย์ที่ให้แต่งกลอนลำนั้นก็มีหลายโจทย์ อย่างเช่น นโยบายของรัฐบาล ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอลำที่แตกฉานหรือไม่แตกฉานแล้วก็ตามจะต้องมีสมาธิพอสมควรเพราะจะต้องรวบรวมข้อมูลอย่างมาก ต้องระวังในการแต่งเป็นอย่างดี อาจจะเป็นการระวังคำที่จะมาใช้แต่งเพราะจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป 6. การสาธิตการด้นกลอนสดของพ่อครูเคน ดาเหลา 6.1 เป็นการด้นกลอนสดโดยการใช้สถานการณ์ของผู้สัมภาษณ์มาด้นสดเป็นกลอนลำ (ตัวอย่างกลอนลำ) คุณบุญจันทร์ เพชรเมืองเลย เพิ่นกะได้บังเกิด ทางร้องทางลำ เผื่อสิจดสิจำ ความลำไปเผยแพร่ ให้พ่อแม่พี่น้อง เฮาฮู้สู่คน โดนบ่นานนานล้ำ จนมาหาพ่อเคนหมอลำ ขอคูณข้อมูลไปนำแหน่ เผื่อไปเผยแพร่ให้พี่น้องเฮา พ่อเคนลำกะบอกให้ เนื้อหาสาระทุกอันความสำคัญ เกี้ยวพาราสี กลอนตลก เฮฮาสุวันพันเรื่อง คุณบุญจันทร์ บ่ได้เคืองใจแคน จนเอาที่มีความจำเรียบร้อย ไปแล้วจั่งสิดี ข้อสังเกตคือ กลอนด้นสด ให้ยกเว้นคำว่า “อันแม่นว่า แล้วอันนี้”ถ้าใช้คำเหล่านี้แสดงว่ายังด้นสดไม่เก่งพอ สิ่งที่จะทำการด้นสดได้ดีจะต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะลำให้พร้อม และให้เป็นคนที่มีความรู้รอบด้าน เป็นต้น 6.2 กลอนด้นสดลำทางสั้น จะยากกว่าด้นสดลำทางยาวเพราะจะไม่มีการเอื้อนคำ เอื้อนเสียงทำให้ผู้ลำจะต้องคิดกลอนลำด้วยความรวดเร็วจะช้าไม่ได้ (ตัวอย่างกลอนลำ) ฟังเด้อเจ้าคุณพ่อสำคัญ ส่วนว่าคุณบุญจันทร์ ข้อมูลต่าง ๆ เพิ่นอยากได้หลายอย่าง เรื่องกลอนร้องกลอนลำ 6.3 กลอนด้นสดลำทางยาว จะง่ายกว่าด้นสดลำทางสั้นเพราะจะมีการเอื้อนคำ เอื้อนเสียงเพื่อชะลอ การคิดคำด้วยคำว่า “โอย”ในวรรคต่อไป (ตัวอย่างกลอนลำ) โอย…คุณบุญจันทร์เพิ่นมาแล้ว แนวสำคัญอยากได้ต่อ หาพ่อเคนและการร้องและการลำมา ทำนองให้สู่ฟัง บาดนี้เพิ่นสิตั้งฟังก่อนคุณนาย 7. ประเภทของกลอนลำที่พ่อครูเคน ดาเหลาแต่ง ยกตัวอย่าง กลอนลำเกี้ยวพาราสี กลอนลำเหตุบ้านการเมือง กลอนลำประวัติศาสตร์ 7.1 กลอนลำเกี้ยวพาราสี (ตัวอย่างกลอนลำ) ฟ้าเอย ฟ้าฮ้องควม กวมหนองคายอ้ายฮ้อนฮ่ำ ได้ยินฟ้าฮ้องน่ำ ทางเวียงจันทร์ลั่นตึ้ง คิดถึงน้องได้ส่องหา ผลาอ้ายหน่ายบ่มี หน่ายบ่มี เออ…นี้หนอ ***ถ้าหากขึ้นต้นกลอนลำแบบนี้จะเป็นกลอนเกี้ยวทันที (ตัวอย่างกลอนลำ) ปีนี้มาเสียอกตั้งแต่บ้าน มันลำบากกระใจจิต คั่นสิไปทางยนต์นั่งโดนกำลังล้า คั่นสิไปทางม้าคั่นคาคิดขาดท่อง ยากนำภูฮ่องห้วยขัวห้างกายสะพาน คั่นสิเขียนสารไว้กะฮ้ายเดือนถิ่มสื่อๆ คั่นสิฝากถือย้านแต่เขาสิฮู้ หัวข้อซ่องเบิ่งซอง นี้จั่งแม่นนี้น้องทำให้พี่ทนทุกข์ ตัดความสุขสิเมือสั่งแต่กลอนลำไว้ ไผ๋บ่คือนางน้องลำเป็นกะหากว่า ตาหวาน ๆจั่งน้องหนี้แล้วให้เบิ่งไผ๋นวนใน ๆ นี้หนอ 7.2 กลอนลำเหตุบ้านการเมือง (ลำทางยาว) (ตัวอย่างกลอนลำ) พ.ศ. 2005 โลกาบ่คือเก่า โลกของเฮาสุมื้อนี้บ่คือกี้แต่ก่อนหลัง เสียงปืนดังโป้งปั้ง ทางก้ำฝ่ายประเทศอิรัก จักเสียงยาวเสียงปืน ระเบิดยืนดังโป้ง ระเบิดยึ้งดังก้อง ฟังเสียงอึงคะนึงให้ เสียงใจเหงางวม เพราะเกิดความแตกร้าว เขานั้นให้ใส่แต่กัน ทางอิสรแอนว่านั้น น้อยใหญ่กะถือปืน ลุกขึ้นยืนเร็วรกฆ่ากันพันม้าง จิตใจโกนคือสร้างคิดเห็นทางบ้านเพิ่น เด้หนอ ความเจริญมอดไหม้ไผ๋เด้ สิซอยซู เด็กน้อยมันบ่ฮู้ ถามว่าแม่แม่นเสียงหยัง เสียงปืนดังเร็วรบฆ่ากันตั๋วหล้า… 7.3 กลอนลำประวัติศาสตร์ (ลำทางสั้น) (ตัวอย่างกลอนลำ) ฟังเด้อเจ้าคุณพ่อ ศรัทไทย เดี๋ยวนี้ตกสมัยเจริญก้าวหน้า เบิ่งบ่อนใด๋มีแต่บ่อนสง่า ถูกต้องตามตา ได้สมปรารถนา ติดใจมุ่งมาด เพราะเลาเป็นสัญชาติไทยถิ่นเดี๋ยวกัน ไทยของเราต้องพากันสร้าง สรรค์อย่าให้มั่นหว่าง สมกับไทยก้าวย่าง เข้าสู่เมืองแมน เทียบกับชั้นเมืองแถน ชาติทิศทิศนั่ง เป็นตัวอย่างทั่งรถเรือบิน ทั้งหากินไปมาสะดวก ไทยรวมหมู่รวมพวกไทยอุดหนุนไทย ให้พากันเข้าใจเวลามันน้อย เฮาอย่าปล่อยให้เสียเวลา รีบฟ้าวแล่นฟ้าวหาประกอบอาชีพ เมือขาดเขินให้รีบค้นคว้าหาเอา ให้มันมีคือเขาประเทศอื่น ๆ ตื่นฮีบตื่นพวกเราชาวไทย อย่าไปนอนหลับใหลไทยตื่นรีบตื่น หาเงินพันเงินหมื่นเถิดพี่น้องไทย อย่าไปนอนหลับใหลเสียถิ่มเปล่า ๆ 8. ให้คนสนใจการแสดงหมอลำขณะลำบนเวที 8.1 ถ้าผู้ฟังลำอยู่ห่างไกลตัวเมืองหรือห่างไกลความเจริญ ยังไม่รู้ว่าเขามีความคิดความสนใจในเรื่องใด ขั้นตอนแรก ก็จะสุ่มหยิบกลอนลำสักหนึ่งกลอนส่งให้ผู้ฟัง ได้ฟังก่อน และถ้าหากดูท่าทีแล้ว ไม่มีความสนุกสนานหรือไม่มีปฏิกิริยาตอบรับก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือสุ่มหยิบกลอนลำอีกกลอนส่งให้ผู้ฟัง และถ้าหากกลอนลำนี้ส่งไปแล้วติดใจผู้ฟัง เช่นชอบกลอนลำแบบ สองแง่ สองง้าม ก็จะลำมากกว่าปกติ แล้วค่อยแทรกกลอนอื่น ๆ ตามลำดับเป็นต้น ถ้าหากว่ากลุ่มใดชอบทางด้านประเพณีวัฒนธรรมก็จะส่งกลอนลำจำพวก ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ให้ฟัง เป็นต้น สรุปแล้วหมอลำต้องมีไหวพริบ ปฏิพาณ ความเฉลียวฉลาดในตนเอง ถ้าหากขาดปัจจัยเหล่านี้ก็จะทำให้งานแสดงไม่มีคนจ้าง และจะอยู่ไม่รอด 9. ด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย (หมอลำ) 9.1 ต้องทำการสืบสานสร้างสรรค์หมอลำ สืบทอดไปตลอด 9.2 ดึงผู้ที่สนใจทางด้านการลำ นักแต่งกลอนลำเข้ามาอบรมอยู่เรื่อย ๆ 9.3 อธิบายความหมายของหมอลำให้คนที่สนใจฟังอย่างชัดเจน และอาจถึงขั้นพาออกงานแสดงด้วยยิ่งดี 10. การเรียนรู้หมอลำ 10.1 การเรียนหมอลำเกิดจากความสมัครใจของผู้มาเรียน 10.2 สนใจเรียนหมอลำแต่กลัวว่าจะเรียนไม่ได้เพราะกลัวยาก เช่น ลำกลอน ลำไม่ได้ ลำไม่เข้ากับเสียงแคน เป็นต้น (ยังเข้าใจผิด) 11. จำนวนลูกศิษย์ที่มาเรียนลำกับ พ่อครู เคน ดาเหลา - มีจำนวนมากกว่า 1,000 คน - ส่วนกลอนลำมากกว่า 1,000 กลอน 12. การสูญหาย(ลึปสูญ)หมอลำ 12.1 หมอลำจะยังคงอยู่และไม่มีวันสูญเสียเพราะยังมีคนสืบทอดอยู่เรื่อย ๆ 12.2 ในยุคใหม่นี้หมอลำจะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนยุคเก่าเพราะหมอลำรุ่นเก่าได้หายไปหมดแล้ว ถ้ายังไม่ได้รับการถ่ายทอดที่ถูกต้องจากครูโดยตรง |
ฮีตสิบสองอีสาน โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
ฮีตสิบสองอีสาน โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย ในปัจจุบันประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นยังคงยึดถือปฏิบัติประเพณี ๑๒ เดือน หรือที่เรียกกันในภาษาอีสานว่า “ฮีต ๑๒” กันอยู่ ซึ่งได้สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณเป็น จารีต ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ที่สั่งสมกันมาต่อเนื่องอย่างยาวนาน และในแต่ละครั้งเมื่อถึงประเพณี ๑๒ เดือน ก็ได้มีการรำแบบพื้นเมืองอีสาน เพื่อถวายแก่ “ผีฟ้า ผีแถน” ซึ่งชาวอีสานเคารพนับถือว่าเป็นเทวดาเพื่อมาดับทุกข์เข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวง และสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ ดังตัวอย่างกลอนลำประกอบภาพดังต่อไปนี้ ผู้ประพันธ์ บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย 1 มกราคม 2556 ฮีตที่ 1 บุญเข้ากรรม (ฮีต ๑) พอถึง / เดือนเจียง ชาวบ้านเลี้ยง/ผีแถน
ฮีตที่ 2 บุญคูณลาน (ฮีต ๒) เดือนยี่ / คูณลาน ข้าวเปลือกทาน / ร่วมกัน
ฮีตที่ 3 บุญข้าวจี่ (ฮีต ๓) เดือนสาม / ป่าวเติน ให้เอิ้นกัน / ทำบุญ
ฮีตที่ 4 บุญเผวส หรือบุญมหาชาติ (ฮีต ๔) เดือนสี่ / ฟังเทศ บุญผเวส / เสพงัน กันสิบ / สามได้ แห่ผเวส / สู่นคร
ฮีตที่ 5 บุญสงกรานต์ (บุญเดือนห้า) (ฮีต ๕) เดือนห้า / สงกรานต์ ต่างกลับบ้าน / คืนนา
ฮีตที่ 6 บุญบั้งไฟ(บุญเดือนหก) (กาพย์เซิ้งบั้งไฟ ผาแดงนางไอ่) (ฮีต ๖)
บั้งไฟขึ้นฟ้าเลยชนะกลับไป ได้ขวัญใจไอ่ คำเคียงคู่
ล่าวบ่อนอยู่ของท้าวภังคี บาดาลมีบุตราพยานาค ชาติก่อนหากเป็นคู่เคียงนอน ยังอาวรณ์ ถึงน้องนางไอ่
มาชาติใหม่ยังห่วงหวลหา แปลงกายมาปลอมเป็นกระฮอก
หายจมเกลี้ยง กลายเป็นหนองหาน ผลบุญทานผาแดงสร้างไว้ จุติได้ ชื่อผญาแถน บั้งไฟแล่น ขึ้นฟ้าบูชา บวงสวงพญาเดือนหกฝนส่ง น้ำท่วมท่งฝนฟ้าเทลง โอ้เฮาโอ่ เฮ้าโอ้ เฮ้าโอ้
ฮีตที่ 7 บุญซำฮะ (บุญเดือนเจ็ด) (ฮีต ๗) เดือนเจ็ด / ซำฮะ ก่อนจะลง / ทำนา
ฮีตที่ 8 บุญเข้าพรรษา (บุญเดือนแปด) (ฮีต ๘) เดือนแปด / แล้ว เข้าพรรษา / ทำบุญ
ฮีตที่ 9 บุญข้าวประดับดิน (บุญเดือนเก้า) (ฮีต ๙) พอถึง / เดือนเก้า ทำบุญข้าว / ประดับดิน
ฮีตที่ 10 บุญข้าวสาก (บุญเดือนสิบ) (ฮีต ๑๐) เดือนสิบ / นี้ บุญข้าวสาก / คองเก่า
ฮีต 11 บุญออกพรรษา (บุญเดือนสิบเอ็ด) (ฮีต ๑๑) เดือนสิบ / เอ็ดมา แห่ผาสารท / ผึ้งกัน
ฮีตที่ 12 บุญกฐิน (บุญเดือนสิบสอง) (ฮีต ๑๒) เดือนสิบ / สอง สิ้น / ปวรณา
(ลำเต้ยธรรมดา)
|
1-4 of 4