ความเป็นมาของหมอลำ: ข้อสันนิฐานของการเกิดหมอลำในยุคปัจจุบัน โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย 

ภาพถ่ายโดยผู้เขียนประตูทางเข้าประเทศเวียดนาม 
ภาพลายเส้นบนเครื่องมือสำริดจากเวียดนามเป็นรูปคนเป่าแคนและฟ้อน (สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2543). เบิ่ง สังคมและวัฒนธรรมอีสาน.) ลายเส้นบนเครื่องมือสำริดจากเวียดนามเป็นรูปคนเป่าแคนและฟ้อน แสดงให้เห็นว่า คนอีสานยุคเริ่มแรกเมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้วรู้จักการเป่า ปี่อ้อ, เป่าแคน, ตีกลองไม้, ตีกลองทอง (มโหระทึก), ตีเกราะเคาะกระบอกไม้ไผ่, และมีเครื่องมือสำริดรูปร่างคล้ายกระดึงพบที่บ้านเชียง, ภาพเขียนสีที่เขาจันทร์งาม จังหวัดนครราชสีมา ทำให้รู้ว่ามีพิธีฟ้อนเต้นอย่างง่าย ๆ และหลักฐานลายเส้นบนเครื่องมือสำริดจากเวียดนามทำให้รู้อีกว่ามีประเพณีฟ้อนแล้วขับคลอคู่กับ “หมอแคน” ด้วย บุคคลเหล่านี้คือ “หมอผี”มีความรู้พิเศษและเป็นหัวหน้าประกอบพิธีกรรมเพื่อสื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2543) สำเร็จ คำโมง (ม.ป.ป.) (อ้างอิงใน จารุวรรณ์ ธรรมจักร 2525; จารุวรรณ ธรรมวัตร 2525; ธวัช ปุณโณทก 2524; พระดริยานุวัตร เขมจารี 2524; หมอลำทองมาก จันลือ) ผู้รู้เหล่านี้ให้ข้อสันนิฐานของการเกิดหมอลำในยุคปัจจุบัน พอจะสรุปได้ว่า ๑. พัฒนาการมาจากการอ่านหนังสือผูก ซึ่งเคยใช้เป็นคล้ายมหรสพในงาน “งันเฮือนดี”และ “งานวันหม้อกรรม” ส่วนทำนองเสนาะที่ใช้ในการอ่านหนังสือผูกครั้งแรก เป็นแบบที่พระสงฆ์ใช้เทศน์ลำ ภายหลักนิยมมากถึงกับมีการว่าจ้างไปออกงานมงคลและอวมงคลต่าง ๆ และได้มีการท่องจำตัวอักษรทุกตัว จนไม่ต้องดูหนังสือผูก และมืออยู่เฉย ๆ จึงได้ทำการวาดฟ้อนออกท่าทางกลายเป็น “หมอลำ”ไปในที่สุด ๒. พัฒนาการมาจากการจ่ายผญา มีการเกี้ยวพาราศีของหนุ่มสาวและเป็นการเจราโต้ตอบกันภายหลังจึงได้มีการคิดใส่ทำนองเสนาะ และเมื่อต่างคนในต่างถิ่นต่างคิดจึงทำให้เกิดทำนองเสนาะซึ่งเรียกว่า “ทำนองลำ” ขึ้นหลายทำนอง ๓. พัฒนามาจากความเชื่อในลักทธิภูตผีและวิญญาณ ซึ่งต้องบวงสรวงอันเป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยความกลัวภัยและเป็นมงคลชีวิตและสังคม ในพิธีเซ่นสรวงบวงพลีนั้น “เฒ่าจ้ำ” ซึ่งเป็นเจ้าพิธีจะร่ายมนต์คาถาซึ่งเป็นบทร้อยกรองที่มีสัมผัสมีจังวะจะโคนขับเห่พรรณนาเนื้อความอันเชิญ ขับกล่อม และวิงวอน วิญญาณ ผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และภายหลังมาได้เพิ่มท่าฟ้อนและนำแคนเข้าบรรเลงคลอทำนองขับลำด้วย การพัฒนาการของการเกิดหมอลำข้างต้นล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากการสันนิฐานทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้ว่าจะไม่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนอีสานเลย กลับกลายเป็นว่ามีความสัมพันธ์กันแทบแยกไม่ออกเลยว่า ในปัจจุบันหมอลำมีอยู่ในเกือบทุกพื้นในภาคอีสานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยหล่อหลอมให้ผู้คนเป็น ชุมชน ชาติพันธุ์ ที่เป็นอัตลักษณ์หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวนั้นเองจากการศึกษาจากนักวิชาการ และปราชญ์ท้องถิ่น หมอลำแบ่งออกเป็น ๕ ยุคดังนี้ ๑. ลำผีฟ้า สันนิฐานว่า ในอดีตความเจริญยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้านที่ห่างไกลเมือง หากเวลาป่วยไข้ก็แทบไม่มีโรงพยาบาลเหมือนปัจจุบัน ได้แต่อาศัยการรักษาแบบสวดอ้อนวอนเทพเจ้าให้ช่วยเหลือ เยียวยาอาการป่วยไข้ การรักษาโดยการ ลำผีฟ้า (เทวดา) โดยการลำประกอบแคน เป็นต้น ๒. ลำพื้น สันนิฐานว่า เกิดจากการเล่านิทานของคนเฒ่าคนแก่ตามหมู่บ้าน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีทีวี หลังจากทานข้าวเย็นเรียบร้อยแล้ว เด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็จะมาฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทานกันซึ่งในนิทานนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่นสังข์สินไซ จำปาสี่ต้น นางหมาขาว นางนกกะยางขาว เป็นต้น และเพื่อความตื่นเต้นและเร้าใจยิ่งขึ้นผู้เล่านิทานก็มีท่าฟ้อน ท่าลำเกิดขึ้นมีแคนมาประกอบ เป็นต้น ๓. ลำกลอน พัฒนามาจากหมอลำพื้น และหมอลำผีฟ้า โดยมีแคนประกอบลำมีคู่แสดงชายหญิง ลำตอบโต้กัน เนื้อหากลอนลำ เช่น ประวัติศาสตร์ สังคมการเมืองการปกครอง ศาสนา ประเพณี การศึกษา และความรัก เป็นต้น ๔. ลำเรื่องต่อกลอน หรือลำหมู่/ลำเพลิน/ลำเต้ย ในยุคนี้ความเจริญได้เข้าถึงแล้ว มีเวทีแสงสีเสียงครบ ในการแสดงใช้คนเป็นจำนวนมาก ๕๐ – ๑๐๐ คน การแต่งกายคล้ายกับลิเกภาคกลาง ๕. ลำซิ่ง พัฒนามาจากลำกลอนมีดนตรีที่ทันสมัยเป็นสากล จังหวะดนตรีเร้าใจปลุกใจให้เต้น กลบความเหนื่อยล้าได้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงแต่ลำกลอน และเพียงแต่ยิบยกเนื้อหากลอนลำบางส่วนของ ลำพื้น และลำผีฟ้า มาแสดงให้เห็นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเท่านั้น ส่วนกลอนลำชนิดอื่นๆ ให้ผู้สนใจค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม หมอลำกลอนมีหลายทำนอง ได้แก่ ทำนองอุบล ทำนองขอนแก่น ทำนองกาฬสินธุ์ ทำนองสารคาม และทำนองชัยภูมิ กล่าวได้ว่าทำนองลำจะขึ้นอยู่กับการคิดค้นเอกลักษณ์ของตนเองที่ให้เข้ากับสำเนียงภาษาพูดประจำท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ในหนังสือเล่มนี้ผู้เรียบเรียงของกล่าวถึงแต่เพียงหมอลำกลอนทำนองขอนแก่นเท่านั้น หมอลำกลอนทำนองขอนแก่น เป็นทำนองที่ผสมผสานในหลายทำนอง มีจังหวะช้า ในช่วงลำบท “โศก” จังหวะปานกลางในช่วงพรรณนา ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และจังหวะเร็วในช่วง ลำเต้ย ส่วนขณะที่แสดง ก็จะมีบทเจรจาผสมด้วย อาจจะเป็นการนำเอา ญาบเว้า โตงโตย ผญา ซึ่งจะมีสัมผัสหรือไม่มีสัมผัสก็ได้ล้วนแล้วแต่เป็นไหวพริบปฏิพานของหมอลำคนนั้น เข้ามาแทรกตอนเว้นช่วงลำ ดังนั้น หมอลำจึงเป็นผู้ที่มีความสามารถในการท่องจำกลอนลำได้ดี และสามารถจำกลอนลำเพื่อใช้ในการแสดงได้ตลอดทั้งคืน หรืออาจจะได้กลอนลำนั้นแสดงหลายวันติดต่อกัน แต่ถ้าหากหมู่บ้านที่ไปแสดงใกล้กันกลอนลำต้องมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแสดงว่า หมอลำ จะต้องเป็นผู้ที่มีสติปัญญาความจำอย่างดีเลิศ ขยัน มีพรสวรรค์ และมีพรแสวง ถึงจะจำกลอนลำได้หลากหลายไม่ซ้ำ ถึงแม้หากซ้ำกันก็น้อยมาก หากหมอลำคนใดทำได้ ก็จะได้รับเลือกให้ขึ้นลำบนเวทีเกิดรายได้และได้รับการยกย่อง พร้อมทั้งมีชื่อเสียงจากการเชียร์ของผู้ชมอย่างไม่ขาดสาย ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์การเปลี่ยนแปลงของหมอลำกลอนจากอดีตจนปรับเปลี่ยนเป็นหมอลำกลอนประยุกต์หรือหมอลำซิ่ง จากแม่ครูราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๔ ท่านได้เล่าว่า เมื่อครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ แม่ครูราตรี ศรีวิไล อายุได้เพียง ๑๔ ปี และได้มีโอกาสออกแสดงลำกลอนย้อนยุกต์ครั้งแรก โดยแม่ครูราตรี ศรีวิไล นั้นลำคนเดียวไม่มีหมอลำฝ่ายชายและไม่มีแคนเป่าให้จังหวะเลย หลังจากนั้นจึงเกิดความภูมิใจในการแสดงในวันนั้นจึงออกลำเรื่อยมา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ หมอลำกลอนธรรมดานั้นได้ซบเซาลงมาก โดยมีหมอลำหมู่ และเพลงลูกทุ่งเข้ามาแทนที่หมอลำกลอน แม่ครูราตรี ศรีวิไล จึงได้เปลี่ยนผันตนเองจากเป็นหมอลำกลอนไปเป็นนางหมอลำหมอลำหมู่ตอนอายุ ๑๕ ปี และในปี พ.ศ.๒๕๒๙ แม่ครูราตรี ศรีวิไลได้กลับมาแสดงลำกลอนธรรมดาเหมือนเดิมเนื่องจาก วงหมอลำหมู่นั้นต้องได้แจงค่าใช้จ่ายกันมากไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่แล้วแม่ครูราตรี ศรีวิไลก็พบว่า ผู้คนซบเซาลงอย่างมากเพราะคนไปสนใจในภาพยนตร์ หมอลำหมู่ และดนตรีลูกทุ่งกันหมด แม่ครูราตรี ศรีวิไล กับพี่ชาย สุนทร ชัยรุ่งเรือง จึงได้ปรับปรุงประยุกต์ เนื้อหาของกลอนลำ ท่วงทำนอง ลีลาท่าฟ้อน ให้ทันสมัยขึ้นกว่าเดิมจนกลายมาเป็นลำกลอนประยุกต์ (ลำซิ่ง) มาจนถึงปัจจุบัน 
ที่มาของภาพ: http://khomsunwannawat.blogspot.com/2010/09/26.html การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ทำให้แม่ครูราตรี ศรีวิไลได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนหมอลำแบบเรียนประจำ โดยลูกศิษย์มาสมัครเรียนและเข้ามาอยู่ในความปกครองและการเลี้ยงดูอยู่กินที่บ้านครูผู้สอน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ซึ่งแม่ครูราตรีศรีวิไลได้เล็งเห็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนโดยการได้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายทั้งผู้เรียนแลผู้สอน จึงได้ผลิตสื่อ การเรียนการสอนหมอลำแบบเรียนทางไปรษณีย์ (เรียนด้วยตนเอง) ประกอบการด้วยหนังสือคู่มือบทกลอนลำ และเทป ซีดี วีซีดี ทำนองลำ เมื่อท่องจำกลอนได้ตามหลักสูตรแล้ว ให้เข้ามาฝึกซ้อมท่าทางประกอบการลำโดยเข้ามาพักที่บ้านครู การเรียนทางไปรษณีย์ จึงเป็นการเผยแพร่ให้รวดเร็ว และทั่วถึงกลุ่มผู้สนใจมากยิ่งขึ้น ได้เริ่มสอนทางไปรษณีย์เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน แม่ครูราตรี ศรีวิไล ได้ใช้บทบาทการแสดงหมอลำเป็นสื่อพื้นบ้านในการรณรงค์เผยแพร่ข่าวสารบ้านเมืองช่วยเหลืองานราชการในโครงการต่าง ๆ อาทิเช่น โครงการวางแผนครอบครัว ส่งเสริมเผยแพร่ประชาธิปไตย อีสานไม่กินปลาดิบ ต่อต้านโรคเอดส์ ต่อต้านยาเสพติด เชิญชวนท่องเที่ยวไทยและโครงการร่วมคิดร่วมสร้างร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น เนื่องจากแม่ครูราตรีศรีวิไลเป็นทั้งนักแต่งกลอนลำ นักแสดงหมอลำ รวมทั้งเป็นนักอนุรักษ์และพัฒนาทั้งการแสดงและการออกแบบเครื่องแต่งกาย เช่นชุดหมอลำ หางเครื่อง นักดนตรี การพัฒนารูปแบบการแสดงให้ทันเหตุการณ์ตามยุคตามสมัย และพัฒนารูปแบบการแต่งกายของนักแสดง โดยการนำเอาผ้าหมี่ ผ้าไหมพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ตัดเป็นทรงให้ทันสมัยตามความเหมาะสม (ภาพรวมจะเน้นการอยู่ในบนพื้นฐานของวัฒนธรรมไทย) จึงเป็นการจูงใจให้ลูกศิษย์นิยมชมชอบในความคิดสร้างสรรค์ของแม่ครูราตรี ศรีวิไล ได้หลั่งไหล เข้ามาเรียนมากมาย รวมทั้งเจ้าภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มาติดต่อให้แต่งกลอนลำ และนำไปแสดงเผยแพร่ในงานต่าง ๆ เป็นประจำมากมายพอสมควร จนถึงปัจจุบัน 
แนวทางอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ) ถึงแม้ว่าหมอลำในปัจจุบันนี้จะมีอยู่หลายคณะก็ตาม บางวงหรือคณะก็ไม่มีสังกัด ไม่มีนายทุน และไม่มีทุนสนับสนุนในการบริหารจัดการใด ๆ เลย ทำการแสดงอยู่ได้ไม่กี่ปีก็หยุดแสดง เพราะขาดปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น อันเป็นสัญญาณเตือนว่า หมอลำจะไร้คนสืบทอดต่อ หรือบางครั้งหมอลำอาชีพเองก็ยังขาดการเชิดชู สนับสนุน สืบสาน ดังนั้นจึงเกิดแนวทางในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยถิ่นอีสาน (หมอลำ) ขึ้นดังนี้ ๑. ควรส่งเสริมให้คนที่เป็นหมอลำได้ใช้ภูมิปัญญาที่สะสมไว้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และรวมไปถึงการผลักดันให้มีการเรียนการสอนหมอลำในโรงเรียน และในมหาวิทยาลัยเพื่อฟื้นฟูหมอลำขึ้นมาให้มากที่สุดโดยแนะนำผลักดันให้คนเข้ามาศึกษาและนำไปเผยแพร่ต่อไป ๒. ทำการประยุกต์หมอลำแบบเก่าให้เข้ากับสมัยใหม่มากที่สุด พร้อมทั้งนำเสนอหมอลำในทางวิชาการด้วย เช่น การแสดง การเสวนา และการประชุมวิชาการ และหมอลำนั้นควรมีการประชาสัมพันธ์จุดเด่นของตนให้มากที่สุด ๓. คอยอบรมบ่มเพาะให้ลูกศิษย์ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ๔. รัฐบาลควรเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนศิลปะพื้นบ้าน (หมอลำ) รวมไปถึงเชิญให้หมอลำไปแสดงตามงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆโดยไม่ให้หมอลำอยู่นิ่งเฉย ๕. จัดทำหลักสูตรหมอลำให้มีมาตรฐานและชัดเจนมากที่สุดแล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนของกระบวนการศึกษาอย่างจริงจัง และจัดพิมพ์เอกสารหมอลำให้ผู้สนใจมาศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง ๖. หน่วยงานของรัฐบาลควรช่วยส่งเสริมงบประมาณโดยการเข้ามาสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนหมอลำด้วย ๗. ทำการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลหมอลำไว้ให้มากที่สุดเพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป ๘. ควรทำการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์หมอลำ เพื่อนำหมอลำมาประยุกต์เปลี่ยนแปลงพัฒนาจัดเผยแพร่ทำเป็นนิทรรศการในกิจกรรมต่าง ๆ |