ลิขสิทธิ์เพลง: หมอลำซิ่งเป็นยุคสุดท้ายของหมอลำอีสานจริงหรือ โดย บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย
เพลงลูกทุ่งหมอลำถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมประเภทร้อยกรองที่ใช้สำนวนโวหารที่สละสลวยอีกประเภทหนึ่ง โดยผสมผสานเข้ากับศิลปะทางดนตรีได้อย่างกลมกลืนในด้านการเรียบเรียงเนื้อหา ซึ่งเพลงได้สืบทอดมาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างลึกซึ้งและกินใจ (บุญเกิด มาดหมาย, 2550) เพลงลูกทุ่งได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพลงลูกทุ่งหมอลำได้มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับคนสู้ชีวิต และสาวโรงงาน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้คนทั่วทั้งประเทศ และในปี พ.ศ.2556 วงการศิลปะการแสดงของอีสานต้องสั่นคอนจิตใจอย่างหนัก เพราะมรดกภูมิปัญญา ที่บรรพบุรุษอีสานได้สร้างสรรค์สั่งสมไว้กำลังใกล้ไร้คนที่มาสืบทอดสานต่อ ที่กล่าวอยู่ในที่นี้ คือ การแสดง“หมอลำ” หมอลำนั้นถือกำเนิดมาตั้งแต่โบราณกาล ต้องอาศัยนักวิชาการ ปราชญ์ผู้รู้ช่วยกันศึกษา ค้นคว้า วิจัย ถึงการกำเนิดหมอลำว่ามาจากที่ใด ซึ่งก็คงเพียงแต่ได้แค่สันนิฐานกันเท่านั้น โดยต้องอาศัยการศึกษาวิจัยแบบเจาะลึก ทางแหล่งโบราณคดี การศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชน นำหลักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยามาอ้างอิงทฤษฎี รวมทั้งอาศัยการศึกษาจากวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานจากใบลาน หนังสือก้อม และข้ามไปศึกษาถึงประเทศเพื่อบ้านอย่างประเทศลาวด้วย เพราะเขาก็มีการขับลำอยู่เช่นเดียวกับไทย (อุดม บัวศรี, 2546) ดังนั้น หมอลำจึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะการแสดงที่อำมตะ ไม่มีวันตายจากสังคมอีสานได้เลย และตกทอดเป็นมรดกภูมิปัญญามาจนถึงปัจจุบัน อย่างน่าชื่นชม และภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของเราตลอดมา ซึ่งกว่าจะมาเป็นหมอลำได้จนถึงทุกวันนี้มีพัฒนาการเวลามาหลายช่วงด้วยกัน พัฒนาการเหล่านี้ล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากการสันนิฐานทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้ว่าจะไม่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนอีสานเลย กลับกลายเป็นว่ามีความสัมพันธ์กันแทบแยกไม่ออกว่า เพราะว่าหมอลำมีอยู่เกือบทุกพื้นในภาคอีสานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยหล่อหลอมให้ผู้คนเป็น ชุมชน ชาติพันธุ์ ที่เป็นอัตลักษณ์ เพียง 1 เดียว จารุวรรณ ธรรมวัตร (ม.ป.ป.) ได้ให้ข้อสันนิฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเกิดหมอลำในยุคปัจจุบันว่า หมอลำเกิดจากการอ่านหนังสือผูก และพัฒนานำมาสู่งความเชื่อในลัทธิภูตผีและวิญญาณ ซึ่งต้องบวงสรวงอันเป็นพิธีกรรมเนื่องด้วยความกลัวภัยและเป็นมงคลชีวิตและสังคม และพัฒนาต่อมาเป็นการจ่ายผญามีการเกี้ยวพาราศีของหนุ่มสาวและเป็นการ เจราโต้ตอบกันกลอนลำส่วนใหญ่นั้น เป็นเรื่องราวที่ผูกแต่งขึ้นสำหรับขับลำให้จบเรื่องภายในกลอนเดียว ทำนองเดียว ขับลำให้จบเรื่องในหลายกลอน หลายทำนอง (จิรภัทร แก้วกู่, 2541) จากการศึกษาจากนักวิชาการ และปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เขียนจึงขอสมมุติฐานว่าหมอลำอาจจะมีลักษณะพัฒนาการมาดังนี้ 1. ลำผีฟ้า สันนิฐานว่า ในอดีตความเจริญยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้านที่ห่างไกลเมือง หากเวลาป่วยไข้ก็แทบไม่มีโรงพยาบาลเหมือนปัจจุบัน ได้แต่อาศัยการรักษาแบบสวดอ้อนวอนเทพเจ้าให้ช่วยเหลือ เยียวยาอาการป่วยไข้ การรักษาโดยการ ลำผีฟ้า (เทวดา) โดยการลำประกอบแคน เป็นต้น (ประมวล พิมพ์เสน, 18 มีนาคม 2556: สัมภาษณ์) 2. ลำพื้น สันนิฐานว่า เกิดจากการเล่านิทานของคนเฒ่าคนแก่ตามหมู่บ้าน เพราะสมัยก่อนยังไม่มีทีวี หลังจากทานข้าวเย็นเรียบร้อยแล้ว เด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็จะมาฟังผู้เฒ่าผู้แก่เล่านิทานกันซึ่งสาระในนิทานนั้นส่วนใหญ่เป็นเรื่องของวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่นสังข์สินไซ จำปาสี่ต้น นางหมาขาว นางนกกะยางขาว เป็นต้น และเพื่อความตื่นเต้นและเร้าใจยิ่งขึ้นผู้เล่านิทานก็มีท่าฟ้อน ท่าลำเกิดขึ้นมีแคนมาประกอบ เป็นต้น (ระเบียบ พลล้ำ, 28 สิงหาคม 2558 : สัมภาษณ์) 3. ลำลอน ลำกลอนเป็นการแสดงตอบโต้กันระหว่างชายและหญิง โดยมีแคนเป็นเครื่องดนตรีประกอบลำ ทำนองลำประกอบไปด้วย ลำทางยาว ลำทางสั้น และลำเต้ย เป็นต้น (เคน ดาเหลา, 18 กรกฎาคม 2554 : สัมภาษณ์) 4. ลำเรื่องต่อกลอน หรือลำหมู่/ลำเพลิน/ลำเต้ย ในยุคนี้ความเจริญได้เข้าถึงแล้ว มีเวทีแสงสีเสียงครบ ในการแสดงใช้คนเป็นจำนวนมาก 50 – 100 คน การแต่งกายคล้ายกับลิเกภาคกลาง (อร่าม มุงคำภา, 12 พฤศจิกายน 2557 : สัมภาษณ์) 5. ลำซิ่ง พัฒนามาจากลำกลอนมีดนตรีที่ทันสมัยเป็นสากล จังหวะดนตรีเร้าใจปลุกใจให้เต้นกลบความเหนื่อยล้าได้ (ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร, 18 กรกฎาคม 2554 : สัมภาษณ์) จากวิวัฒนาการของหมอลำที่กล่าวมาข้างต้นนี้ หากชาวอีสานไม่หวงแหนหมอลำคงทิ้งไปนานแล้ว และอาจจะไม่มีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นได้ ซึ่งสอดคล้องกับ ทฤษฎีวิวัฒนาการ อีวอลลูชันนารี ทีโอรี (evolutionary theory) ตามแนวคิดของ ไทเลอร์ (Tylor) ที่เชื่อว่า สังคมที่เจริญถึงขั้นอารยะธรรมก็อาจเสื่อมสลายได้เหมือนกับร่างกายมนุษย์ สังคมที่อยู่ขั้นเจริญแล้วมันเป็นการอยู่รอดได้ด้วยการปรับตัวด้วยความสามารถอยู่ตลอดเวลา (เสาวลักษณ์ อนันตศานต์, 2543) และสอดคล้องกับ แนวคิดวัฒนธรรมสมัยนิยม ป๊อบปิวลาร์ คัลเชอร์(Popular Culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสมัยนิยมของคนในยุคนั้น ๆ วัฒนธรรมสมัยนิยมเป็นวัฒนธรรมเป็นความเป็นไปได้ แอนนิติง โกส (anything goes) โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสนิยมของคนในสังคมอยู่ตลอดเวลา (สุนทรี พรหมเมศ, 2542) ในปัจจุบันสังคมโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้เกิดสังคมอุตสาหกรรมขึ้นมามากมายในรูปแบบ โรงงาน บริษัท ห้างร้าน เป็นต้น ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจเกิดปัญหาตามมาก็ คือ การเอาเปรียบหรือการเห็นแก่ตัวของคนในสังคม ดังตัวอย่างการใช้กฎหมายควบคุมการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานเพลงของค่ายเพลงค่ายหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในวงการเพลงลูกทุ่ง และหมอลำในประเทศไทย ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ ถ้าหากใช้ไม่ประนีประนอมก็อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย เช่น เหตุการณ์จับลิขสิทธิ์เพลงในปัจจุบันนี้ ซึ่งส่งผลกระทบของการถ่ายทอดวัฒนธรรมอย่าง ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ หมอลำกลัวโดนจับลิขสิทธิ์แต่ละคณะก็เริ่มทยอยกันเลิกแสดงหมอลำไปในที่สุด ผลสุดท้ายลูกหลานชาวอีสานก็ต้องอพยพเข้าสู่เมืองหลวง และหาแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็นหนุ่มสาวโรงงาน ทำให้การถ่ายทอดหมอลำเสื่อมหายไป และรายได้ที่เสียไปกับค่าลิขสิทธิ์ อาจจะไม่คุ้มกับการลงทุนในการตกแต่งเวที ค่าชุดการแสดงทำให้เกิดความท้อต่อเจ้าของวงหมอลำ อาจทำให้เลิกกิจการไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งผลกระทบที่กล่าวมานี้สอดคล้องกับ ทฤษฎีวัฒนธรรมและบุคลิกภาพ คัลเชอร์ แอนด์ เพฟชันเนิลลิที (Culture and Personality) ในด้าน ไซโคโลจิเคิล แอ็พโพรส (Psychological Approach) เป็นการศึกษาวัฒนธรรมในด้านจิตใจ คือ เอ็คโคโนมิก ไลฟ์ ฟอร์ม (economic life Form) โดยยึดมั่นเอาผลประโยชน์เป็นหลัก ไม่มองในด้านคุณธรรม ดี และเลว (นิยพรรณ วรรณศิริ, 2550) หากเรามาทบทวนเรื่องราวจากอดีตของคนอีสาน จนถึงปัจจุบัน ไม่เคยมีชาติพันธุ์กลุ่มใดสามารถเปลี่ยนชาวอีสานให้เหมือนกับ ภาคอื่น หรือชาติอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ทุกพื้นที่ต่างก็มีวัฒนธรรม สังคม ประเพณี และการดำรงชีวิต ที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง และหากมองอีสานให้เข้มข้นจะเห็นได้ว่า ถ้าหากคนอีสานไม่แตกต่างกับคนภาคอื่น ชาติอื่น ๆ ในด้านปัจจัยทาง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ของอีสานก็อาจจะไม่มีวันเติบโตขึ้นมาได้ จุดเด่นด้านใดที่จะเชื้อเชิญชาวต่างถิ่นเข้ามาดูมาเยี่ยมชมเรา (ถ้าหากเหมือนกันหมดทั่วโลก)แต่ในปัจจุบันนี้กลับเกิดเหตุการณ์ที่น่าเป็นหวงแทนคนอีสานกลุ่มของศิลปะการแสดงเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ได้ปรากฏขึ้นแล้ว คือ หมอลำหลายคณะต้องเสียเปรียบให้กับบริษัทแห่งหนึ่งที่ใช้อำนาจเผด็จการอย่างไม่ปราณี โดยการเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงกับคณะหมอลำ เรื่องราวมีอยู่ว่าหากนักร้องคนใดที่นำผลงานเพลงของบริษัทดังกล่าวที่ไม่ขอลิขสิทธิ์นั้นไปร้องจะถือว่าผิดลิขสิทธิ์โดยมีการดำเนินคดีตามกฎหมายทันที ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเรื่องลิขสิทธิ์เพลงนี้อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและกะทันหันจนเกินไปจนทำให้คณะหมอลำหลายคณะปรับตัวไม่ทันจะเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น และหากย้อนกลับไปในอดีตของชาวอีสานสมัยก่อนเด็กที่ไปเลี้ยงควายตามทุ่งนาก็จะร้องเพลงร้องหมอลำบนหลังควย พอถึงเวลา ทำไร่ ทำนา ทำสวน ก็ร้องเพลงหมอลำ เทศการสังสรรค์กินเลี้ยงฉลองกันตามหมู่บ้านก็เปิดเพลงหมอลำ หากมีการทำบุญประเพณี ฮีตสิบสอง ของอีสานก็ร้องเพลงหมอลำ จ้างหมอลำ เป็นต้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่หมอลำนำเพลงของค่ายเพลงมาร้องนี้จะช่วยเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ค่ายเพลงได้มีชื่อเสียงไปด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์กับลิขสิทธิ์เพลงในครั้งนี้ และยุคของหมอลำของคนอีสานต้องยุติที่ หมอลำซิ่ง จริงหรือ อ้างอิง 1. อ้างอิงจากหนังสือ วารสาร และวิทยานิพนธ์
จิรภัทร แก้วกู่. (2541). กาพย์กลอนอีสาน. ขอนแก่น: มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น. จารุวรรณ ธรรมวัตร. (ม.ป.ป.) รายงานการวิจัยบทบาทของหมอลำต่อสังคมอีสานในช่วงกึ่งศตวรรษ. มหาสารคาม : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ. นิยพรรณ วรรณศิริ. (2550). มานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : เอ๊กซเปอร์เน็ต. บุญเกิด มาดหมาย . (2550). วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมในบทเพลงลูกทุ่งที่ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์. ค้นคว้าอิสระ. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย: มหาวิทยาลัยนเรศวร. สุนทรี พรหมเมศ. (2542). ทฤษฏีสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2543). ทฤษฎีคติชนและวิธีการศึกษา. กรุงเทฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง. อุดม บัวศรี. (2546). วัฒนธรรมอีสาน. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา.
2. อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2558, สิงหาคม.) ระเบียบ พลล้ำ. สัมภาษณ์. หมอลำพื้น, สมุดจดบันทึก [2558, สิงหาคม 28.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2556, มีนาคม.) ประมวล พิมพ์เสน. สัมภาษณ์. กลอนลำผีฟ้า, สมุดจดบันทึก [2556, มีนาคม 18.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2557, พฤศจิกายน.) อร่าม มุงคำภา. สัมภาษณ์. ลำเรื่องต่อกลอน, กล้องวีดีโอของผู้สัมภาษณ์ [2557, พฤศจิกายน 12.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2554, กรกฎาคม.) เคน ดาเหลา. สัมภาษณ์. หลักของการแต่งกลอนลำและ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย (หมอลำกลอน), กล้องวีดีโอของผู้สัมภาษณ์ [2554, กรกฎาคม 18.] บุญจันทร์ เพชรเมืองเลย, (2554, กรกฎาคม.) ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร. สัมภาษณ์. พัฒนาการของหมอ ลำกลอนจากหมอลำกลอนย้อนยุคมาเป็นหมอลำกลอนประยุกต์ (ลำซิ่ง). จดบันทึก [2554, กรกฎาคม 18.] ที่มาของภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=o0A7s3qPlcg |
วัฒนธรรม >